- ให้คุณแม่ร้องเพลงที่มีโครงสร้างง่ายๆ แต่จังหวะหนักแน่น เนื้อเพลงกับดนตรีซ้ำไปซ้ำมา เช่น เพลง “จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้า คว้าปูทะเล” หรือ เพลง “ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างรึป่าวช้างมันตัวโตไม่เบา” ถ้าเพลงพวกนี้ไม่ค่อยเร้าใจคุณลูกสักเท่าไหร่ ก็เปลี่ยนมาร้องเพลงคู่กัดของพี่เบิร์ด ก็ได้ค่ะ เพลงง่ายๆ จังหวะสนุกๆ จะได้โยกกันทั้งแม่และลูก
- เคลื่อนไหวมือเพื่อสื่อความหมายของเนื้อเพลง เพราะร้องอย่างเดียวเห็นท่าจะไม่เร้าใจคุณลูกน้อยเอาซะเลย ลองขยับไม้ขยับมือ ไม่ก็ลุกขึ้นเต้นเป็นแดนเซอร์จำเป็นก็ได้ค่ะ ก็สนุกสนานกันไปอีกแบบหนึ่ง สักพักนึง คุณแม่จะสังเกตเห็นลูกน้อยพยายามทำท่าทางขยับมือตาม ก่อนเขาจะสามารถร้องเพลงหรือพูดได้ด้วยซ้ำ
- ลองหาเครื่องดนตรีต่างๆ ที่เสียงไม่ดัง และไม่ใหญ่เกินไปนัก เช่น กลอง ระนาด อิเล็คโทน ฯลฯ แล้วปล่อยให้ลูกทดลองเล่นเครื่องดนตรีดูค่ะ โดยเปิดโอกาสให้เขาได้สำรวจและค้นพบอุปกรณ์กำเนิดเสียงที่หลากหลายด้วยตัวเอง
- ต้องมีการคั่นจังหวะเรียกน้ำย่อยกันบ้างค่ะ เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่เหมือนกัน ก็คือเวลาเต้น หรือเล่นเครื่องดนตรีต่างๆ ก็ให้เล่นหรือเต้นๆ กันไปสักพักหนึ่งแล้วหยุดชะงักพอเป็นพิธี ก่อนที่จะเริ่มต้นเล่นหรือเต้นๆ อีกครั้งหนึ่ง ก็จะทำให้ลูกน้อยสนุกสนานกับการรอคอยและตั้งสมาธิอย่างมุ่งมั่นมาที่คุณแม่และเสียงดนตรี กิจกรรมประเภทนี้จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในการควบคุมร่างกายได้ดีทีเดียวค่ะ
- สอนจังหวะเต้นง่ายๆ ซ้ำไปซ้ำมา ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นักเลียนแบบตัวน้อยของเราเต้นอย่างอิสระตามใจปรารถนา คุณแม่อาจสอนลูกให้เต้นตามก่อน จากนั้นก็อาจเต้นเลียนแบบจังหวะของลูกบ้าง กิจกรรมเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการจัดการ เช่นเดียวกับระบบความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการของลูกน้อยค่ะ
เด็กน้อยตั้งแต่แรกเกิดสามารถรับรู้เสียงดนตรีและได้ยินเสียงที่คุณแม่พูดหรือร้องเพลง ดนตรีจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองมากกว่า 10 ส่วน ทั้งสมองส่วนบน ส่วนล่าง ซ้าย ขวา หน้า หลัง ทำให้สมองกระตุ้นจินตนาการและความคิดอย่างมีเหตุผล การคิดคำนวณ วิทยาศาสตร์และภาษา และสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่สอนได้ดี โดยเฉพาะดนตรีที่มีจังหวะช้าๆ มีจังหวะและท่วงทำนองที่เหมาะสมก็จะยิ่งทำให้สมองของลูกน้อยพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะลูกน้อยที่อยู่ในวัยแรกเกิดถึง 3 ปีค่ะ
ขอขอบคุณ นิตยสาร M&C แม่และเด็ก
เรียบเรียงโดย www.พัฒนาการเด็ก.com