พัฒนาการเด็ก: น้ำหนักตัวเพิ่มช้าลงหลังจาก 2-3 เดือนแรก คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

น้ำหนักตัวเพิ่มช้าลงหลังจาก 2-3 เดือนแรก


บางครั้งทารกที่ดูดนมจากอกแม่เพียงอย่างเดียวและน้ำหนักเพิ่มได้ดีในช่วงเดือนแรกๆ เริ่มจะน้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่มากหลังจาก 2-4 เดือน นี่อาจเป็นเรื่องปกติ เพราะทารกที่กินนมแม่จะไม่โตตามกราฟแสดงการเจริญเติบโตของเด็กกินนมผสม มันอาจดูเหมือนทารกที่กินนมแม่โตช้าเกินไป แต่ความเป็นจริงคือ ทารกที่กินนมผสมโตเร็วเกินไปต่างหาก

การให้ลูกดูดนมจากอกแม่ คือวิธีให้อาหารแก่ทารกและเด็กอ่อนซึ่งเป็นวิธีปกติ เป็นไปตามธรรมชาติและความเหมาะสมทางกายภาพ การใช้ทารกที่กินนมผสมเป็นแม่แบบของความปกติเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล และจะยังนำไปสู่ความเข้าใจผิดในการแนะนำคุณแม่เกี่ยวกับการให้อาหารและการเจริญเติบโตของทารกอีกด้วย

ในบางกรณี ความเจ็บป่วยอาจจะทำให้ทารกน้ำหนักเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ควรจะเป็น แต่การให้ทารกกินนมผสมเพิ่มเติมจากการให้กินนมแม่ไม่ได้ช่วยให้เขาหายป่วย และทารกอาจจะสูญเสียข้อดีทั้งหลายที่จะได้จากการดูดนมจากอกแม่เพียงอย่างเดียวอีกด้วย คุณแม่ควรจะดูออกว่าทารกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ (ดูข้างล่าง) ถ้าทารกได้รับนมไม่พอ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะเขาไม่สบาย แต่มักจะเกิดจากนมแม่มีปริมาณลดลง สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เวลาที่ทารกน้ำหนักตัวเพิ่มช้ามากจนผิดปกติหลังจาก 2-3 สัปดาห์หรือ 2-3 เดือนแรก คือ น้ำนมแม่มีปริมาณลดลง

ทำไมน้ำนมจึงมีปริมาณลดลงได้

1. คุณแม่อาจอยู่ระหว่างกินยาคุมกำเนิด ถ้าคุณแม่กินยาคุมกำเนิด ให้หยุดกิน นอกเหนือจากการกินยาคุมกำเนิด ยังมีวิธีการอื่นที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้

2. คุณแม่กำลังตั้งครรภ์

3. คุณแม่พยายามยืดช่วงเวลาระหว่างการให้นมแต่ละครั้งให้ห่างออกไป หรือพยายามจะ “หัด” ลูกให้นอนหลับตลอดคืน ถ้านี่เป็นสาเหตุ คุณแม่ควรให้ทารกกินนมเมื่อเขาหิว หรือเมื่อเขาเริ่มดูดนิ้วมือตัวเอง

4. คุณแม่ใช้ขวดนมบ่อยขึ้น แม้กระทั่งตอนที่ยังมีน้ำนมมากอยู่ การใช้ขวดบ่อยๆ ก็จะทำให้ทารกไม่งับหัวนมให้สนิทดีเวลาที่เขาคาดหวังว่าน้ำนมจะไหลเร็ว ถึงแม้คุณแม่จะให้กินนมขวดที่ใส่นมแม่เพียงอย่างเดียวก็ตาม เมื่อน้ำนมไหลช้าลงทารกจะผละออกจากอกแม่ ทำให้เขาใช้เวลาอยู่ที่อกแม่น้อยลง และปริมาณน้ำนมก็จะยิ่งลดลงไปอีก

5. บางครั้งอาการ “ช็อค” ทางอารมณ์ ก็จะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้เหมือนกัน

6. บางครั้งการป่วยก็อาจทำให้น้ำนมลดลง โดยเฉพาะโรคที่ทำให้เกิดอาการไข้ รวมทั้งโรคติดเชื้อที่หัวนม แต่โชคดีที่การเจ็บป่วยที่เกิดกับคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะไม่ทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง

7. คุณแม่อาจจะทำงานมากเกินไป คุณไม่จำเป็นต้องเป็นยอดคุณแม่ ให้คนอื่นช่วยทำงานบ้าน พยายามนอนหลับพักผ่อนเวลาที่ลูกหลับ และให้ทารกดูดนมตอนที่คุณแม่หลับ

8. ยาบางชนิดอาจทำให้น้ำนมลดลง เช่น ยาแก้แพ้บางชนิด (เช่น เบ็นดรีล) ยาลดน้ำมูกบางชนิด (เช่น ซูดาเฟ็ด)

9. คุณแม่ให้ทารกกินนมแค่ข้างเดียวในการกินนมแต่ละครั้ง เพราะอยากให้ทารกได้รับนมส่วนหลัง (hindmilk) ซึ่งมีไขมันสูง แต่อย่าลืมว่าถ้าทารกดูดนมไม่ถูกวิธี เขาก็จะไม่ได้กินนมเลย และถ้าเขาไม่ได้นมเลย เขาก็จะไม่มีทางได้นมส่วนหลังเช่นกัน ควรให้ทารกกินนมให้หมดข้างหนึ่งก่อน และถ้าเขายังต้องการกินต่อก็ควรให้เขากินอีกข้างหนึ่งต่อด้วย

10. อาจเกิดจากหลายสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นร่วมกัน

11. บางครั้งน้ำนมจะลดลงโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน (โดยเฉพาะช่วงประมาณ 3 เดือน) แต่โดยทั่วไปแล้วคุณจะน่าจะสามารถหาสาเหตุได้จากย่อหน้าถัดไป

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำนมลดปริมาณลง ต้องมีคำขยายความเพิ่มเติม ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ทารกมักจะผล็อยหลับเวลาที่น้ำนมไหลช้าลง (การที่น้ำนมไหลช้ามักจะเกิดเร็วขึ้นถ้าทารกไม่สามารถงับหัวนมได้สนิทดี เพราะทารกจะได้กินน้ำนมจากกลไกการหลั่งน้ำนม หรือการที่น้ำนมพุ่งออกมาเองเท่านั้น : Milk Ejection Reflex หรือ Let down reflex) ทารกจะดูดนมสลับกับนอนหลับ โดยไม่ได้รับน้ำนมเยอะๆ ในช่วงนี้ แต่คุณแม่อาจจะยังมีกลไกการหลั่งน้ำนม (หรือการที่น้ำนมพุ่งออกมาเอง) เป็นครั้งคราว ซึ่งจะทำให้ทารกได้กินนมมากขึ้น ตอนที่คุณแม่มีน้ำนมมาก น้ำหนักตัวของทารกจะเพิ่มขึ้นตามปกติ แต่เขามักจะใช้เวลาอยู่ที่อกแม่นานทั้งๆ ที่คุณแม่มีน้ำนมมาก

แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น  ทารกหลายๆ คนก็เริ่มจะผละออกจากอกแม่เวลาที่น้ำนมไหลช้าลง โดยมากหลังจากเริ่มกินนมได้ไม่กี่นาที ลักษณะเช่นนี้มักจะเกิดในทารกที่เริ่มกินนมจากขวดตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ก็อาจเกิดในทารกที่ไม่ได้กินนมจากขวดเลยได้ด้วยเช่นกัน ส่วนมากคุณแม่ก็มักจะเปลี่ยนให้ทารกไปดูดนมจากอกอีกข้างหนึ่ง แต่ทารกก็จะผละจากอกแม่อีกเหมือนเดิม เขาอาจจะยังรู้สึกหิวอยู่ แต่ก็จะไม่ยอมกินนมจากเต้านมและดูดนิ้วมือตัวเองแทน แล้วเขาก็จะไม่ได้น้ำนมที่หลั่งออกมาเองซึ่งเขาควรจะได้กินถ้าเขายังคงอยู่ที่หน้าอกแม่ด้วย

ดังนั้นทารกจะกินนมได้น้อยลง และปริมาณน้ำนมของคุณแม่ก็จะลดลงเพราะทารกดูดน้อยลง แล้วน้ำนมก็จะไหลช้าลงแม้แต่ในช่วงแรกของการกินนม (เพราะมีน้ำนมอยู่น้อย) นี่คงพอจะทำให้คุณแม่เข้าใจได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่ได้เป็นแบบที่ว่านี้เสมอไป ทารกหลายคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ดีทั้งที่ใช้เวลาอยู่ที่หน้าอกแม่ไม่นาน พวกเขาอาจจะผละออกจากอกแม่และดูดนิ้วตัวเองเพราะเขายังอยากดูดอยู่ แต่ถ้าน้ำหนักตัวของเขาเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล

วิธีป้องกันในกรณีสุดท้ายนี้ คือ ทำให้ทารกงับหัวนมได้สนิทดีตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่ให้เขากินนม แต่บางทีคุณแม่หลายๆ คนก็ได้รับการบอกเล่าว่าทารกงับหัวนมได้สนิทดี ทั้งที่ไม่ใช่ การงับหัวนมให้สนิทดีขึ้นช่วยแก้ปัญหาได้ แม้กระทั่งหลังจากเวลาผ่านไปนานแล้ว นอกจากนี้การบีบหน้าอกมักจะทำให้ทารกยังคงได้กินนมต่อไป

บางครั้งยาดอมเพอริโดนจะทำให้น้ำนมเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ห้ามใช้ยานี้ถ้าคุณกำลังตั้งครรภ์

คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกได้กินนมเวลาที่เขาอยู่ที่อกแม่

ในขณะที่เด็กทารกกินนมได้ (ไม่ใช่แค่เพราะเขามีเต้านมอยู่ในปากและทำท่าดูด) คุณจะต้องเห็นว่าหลังจากที่เขาอ้าปากและดูดนมได้ปริมาณมากพอ จะต้องมีการหยุดเคลื่อนไหวตรงปลายคางก่อนที่เขาจะปิดปาก ดังนั้นการดูดนม 1 ครั้ง คือ อ้าปากกว้าง --> หยุด --> ปิดปาก ถ้าคุณต้องการจะสาธิตการดูดแบบนี้ด้วยตัวเอง ให้ลองเอานิ้วชี้ใส่ปากตัวเอง และดูดนิ้วเหมือนกับดูดน้ำจากหลอดกาแฟ ขณะที่คุณดูดเข้าไป คางของคุณจะลดต่ำลงและค้างอยู่ในตำแหน่งนั้นไปเรื่อยๆ เมื่อคุณหยุดดูด คางของคุณจะกลับมาที่ตำแหน่งเดิม ถ้าคุณสังเกตเห็นการหยุดเคลื่อนไหวแบบนี้ที่บริเวณคางของลูก นั่นหมายความว่า ลูกของคุณดูดนมได้จนเต็มปากของเขาในการดูดแต่ละครั้ง

ยิ่งมีการหยุดเคลื่อนไหวนานเท่าไร ทารกก็ยิ่งดูดนมได้มากเท่านั้น เมื่อคุณเข้าใจการดูดนมที่มีการหยุดเคลื่อนไหวของคางแบบที่ว่านี้แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับคำแนะนำไร้สาระต่างๆ ที่บอกต่อๆ กันมาเกี่ยวกับการให้ลูกกินนมแม่  เช่น ต้องให้ลูกดูดนมจากเต้านมข้างละ 20 นาที ทารกที่ดูดนมในลักษณะนี้ (มีการหยุดเคลื่อนไหวคาง) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 20 นาที อาจจะไม่ยอมดูดนมอีกข้างหนึ่งเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่เด็กทารกที่อมหรือตอดหัวนมอยู่ 20 ชั่วโมง (โดยไม่ได้กินนม) ก็จะยังรู้สึกหิวอยู่หลังจากแม่ให้นมเสร็จแล้ว

คุณสามารถดูท่าให้นมลูกแสดงการงับหัวนมอย่างถูกวิธี วิธีดูว่าทารกได้กินนมหรือไม่ และวิธีการบีบหน้าอกช่วยลูกดูดนม

แผ่นพับที่ 25 - น้ำหนักตัวเพิ่มช้าลงหลังจาก 2-3 เดือนแรก (ตุลาคม 2549)
แปลและเรียบเรียงโดย นิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์
จาก Handout #25: Slow Weight Gain After the First Few Months. January 2005
Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005

ขอขอบคุณที่มา : breastfeedingthai.com
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ
URL: www.พัฒนาการเด็ก.com/2016/01/weight.html

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย