พัฒนาการเด็ก: กลยุทธ์ 3 ขั้น ปราบเจ้าหนูนักต่อต้าน คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

กลยุทธ์ 3 ขั้น ปราบเจ้าหนูนักต่อต้าน

กลยุทธ์ 3 ขั้น ปราบเจ้าหนูนักต่อต้าน



วิธีที่ดีสำหรับการจัดการกับลูกจอมต่อต้าน คือพ่อแม่ต้องยอมรับและทำความเข้าใจก่อนว่าการปฏิเสธและต่อต้านของลูกเป็นพัฒนาการตามวัย

ไม่อยากไป ไม่อยากกิน ไม่อยากทำ และอีกสารพัดคำปฏิเสธที่พ่อแม่ จะต้องได้ยินจากลูกวัย 3 ขวบแรก แต่แทนที่จะมัวอารมณ์เสียกับอาการต่อต้านจากลูก ใช้กลยุทธ์ต่อไปนี้ปราบเลยค่ะ

ทำไมลูกต่อต้านและปฏิเสธ?
เมื่อลูกเข้าสู่วัยเตาะแตะ (1-3 ปี) พัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และสมอง ก็เริ่มพัฒนามากขึ้นกว่าวัยเบบี้ ทำให้ลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเอง มองตัวเองและให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง อยากทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น จึงไม่อยากให้พ่อแม่ทำให้เขาทั้งหมด แต่ด้วยความสามารถของวัยนี้ก็ยังต้องพึ่งพ่อแม่อยู่ บางครั้งลูกก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในใจ เวลาที่พ่อแม่บอกให้ทำอะไร แต่หนูๆ ไม่อยากทำ ก็จะเริ่มเกิดการต่อต้านขึ้นค่ะ

เด็กวัยนี้จะเริ่มอยากเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบหรือไม่ชอบเอง ทำให้เห็นได้ชัดว่า พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมลูกได้ทั้งหมดเหมือนเมื่อก่อน คำที่ติดปากลูกส่วนใหญ่ก็คือคำว่า “ไม่ ไม่ ไม่” คำนี้แหละค่ะ ที่ทำให้พ่อแม่ต้องหงุดหงิด อารมณ์เสีย จนกลายเป็นไม่เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย

พิชิตเจ้าหนูจอมปฏิเสธ
วิธีที่ดีสำหรับการจัดการกับลูกจอมต่อต้าน คือพ่อแม่ต้องยอมรับและทำความเข้าใจก่อนว่าการปฏิเสธและต่อต้านของลูกเป็นพัฒนาการตามวัย ถ้าลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเอง แสดงว่าลูกเรียนรู้ที่จะพึ่งคนอื่นน้อยลง แต่ถ้าลูกไม่รู้จักปฏิเสธหรือต่อต้านพ่อแม่เลย ลูกก็จะเป็นเด็กที่คิดเองไม่เป็น และต้องหวังพึ่งพ่อแม่อยู่ต่อไปค่ะ

ดังนั้น ถ้าเจอกับสถานการณ์ต่อต้านจากลูกแบบนี้ พ่อแม่ไม่ควรหงุดหงิดและอย่าพยายามควบคุมลูกไปทุกอย่าง เพราะจะยิ่งเป็นการฝืนความต้องการของลูก ลูกก็จะยิ่งร้องไห้ โวยวาย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จนกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้าย แต่พ่อแม่ควรใช้วิธีเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดเองและจัดการกับอารมณ์ของเขา ด้วยวิธีต่อไปนี้ คือ

กลยุทธ์ขั้นที่ 1 ส่งคำเตือนไปก่อน
ในขณะที่ลูกกำลังติดใจอยู่กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งอยู่ แล้วต้องถูกพ่อแม่บอกให้ทำอย่างอื่น ลูกก็มีความรู้สึกไม่พอใจหรือโกธร โดยแสดงออกมาในท่าทีที่ปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นการร้องโวยวาย ตะโกน ฯลฯ เพื่อให้ลูกได้ปรับตัวและเตรียมใจกับอารมณ์โกรธ พ่อแม่ควรบอกลูกเพื่อเป็นคำเตือนก่อน เช่น ในขณะที่ลูกกำลังเล่นอยู่ ให้บอกลูกว่า “อีก 10 นาที แม่จะพาลูกไปอาบน้ำหรือกินข้าวแล้วนะ” เมื่อพูดจบ ลูกอาจจะแสดงอาการต่อต้านออกมา ก็ปล่อยให้เขาได้ระบายความรู้สึก พ่อแม่ก็อาจจะเดินไปที่อื่นก่อน ปล่อยให้ลูกเล่นไปก่อนค่ะ (เด็กอาจยังไม่เข้าใจว่า 10 นาทีคือนานเท่าไร แต่จะพอเข้าใจได้จากท่าทีของคุณพ่อคุณแม่ว่าหนูยังเล่นต่อได้อีกหน่อย)

กลยุทธ์ขั้นที่ 2 พูดคุยอย่างเข้าใจ
หลังจากที่พ่อแม่ส่งคำเตือนไปแล้ว เมื่อถึงเวลาที่จะต้องหยุดเล่นจริงๆ พ่อแม่ก็ควรเข้าไปพูดคุยกับลูก ว่าถึงเวลาที่จะต้องไปอาบน้ำแล้ว ขั้นตอนนี้ลูกอาจจะโวยวายมากขึ้นอีก แต่พ่อแม่ก็ต้องค่อยๆ บอกกับลูกด้วยท่าทีที่สงบและใช้คำที่สั้นกระชับ เช่น “แม่รู่ว่าลูกกำลังสนุกอยู่ แม่เข้าใจว่าลูกไม่อยากอาบน้ำ แต่เวลานี้เป็นเวลาที่ต้องอาบน้ำ ลูกก็ต้องไปอาบน้ำค่ะ”
การพูดคุยกับลูกแบบนี้ ยังเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์เวลาที่ไม่พอใจ เราควรใช้วิธีการพูดดีกว่าการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีออกมา ถ้าพูดแล้วลูกยังไม่ยอมทำตาม ก็อย่าเพิ่งใส่อารมณ์กับลูกนะคะ แต่ให้คิดว่าสิ่งที่พ่อแม่กำลังทำ ไม่ได้ต้องการเอาชนะลูก แต่เราต้องทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ คือพาลูกไปอาบน้ำ จึงต้องใจเย็นๆ ค่ะ

กลยุทธ์ขั้นที่ 3 ลงมือปฏิบัติ
ขั้นตอนนี้ ต้องลงมือทำจริงค่ะ คือพาลูกไปอาบน้ำเลย แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่ไม่ได้รุนแรง ไม่ควรจับ ลาก หรือดึงลูกด้วยความรุนแรง แต่ควรพาลูกไปพร้อมกับอธิบายว่า แม่จะพาลูกไปอาบน้ำแล้ว โดยอาจยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ลูกเห็น เช่น “ดูสิ พี่ๆ ก็อาบน้ำกันทั้งนั้น”

เด็กวัยนี้มักชอบที่จะเลียนแบบค่ะ พอเห็นคนอื่นทำ เขาก็อยากทำด้วย หรืออาจเล่มเกมสนุกๆ ไปพร้อมกับลูก โดยดูจากสิ่งที่ลูกกำลังเล่นอยู่ เช่น ชวนว่าใครจะพาตุ๊กตาเป็ดน้อยไปอาบน้ำได้ก่อนกัน ลูกก็จะสนุก ให้ความร่วมมือและลดการต่อต้านลงค่ะ

อีกเคล็ดลับคือการให้ทางเลือกแก่ลูก เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มไม่ชอบการถูกบังคับ ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้คำสั่ง เช่น “หนูต้องไปอาบน้ำเดี๋ยวนี้” อาจจะทำให้เด็กต่อต้าน แต่ถ้าเด็กได้มีโอกาสตัดสินใจเอง เด็กจะรู้สึกว่าตนควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีให้ทางเลือกแก่ลูก เช่น “หนูจะให้คุณแม่พาไปอาบน้ำ หรือจะให้คุณพ่อพาไปคะ” หรือ “หนูจะให้คุณแม่อาบน้ำให้เป็ดน้อย หรือหนูจะอาบให้เป็ดน้อยเองคะ” เมื่อลูกได้เลือก ลูกก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าถูกบังคับ และเข้าใจว่าตนคุมสถานการณ์ได้ แต่ความจริงแล้วคนที่เป็นผู้คุมสถานการณ์ตัวจริงคือคุณพ่อคุณแม่ เพราะสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ให้เด็กเลือก เป็นสิ่งที่พ่อแม่เลือกมาแล้วว่าลูกจะเลือกตัวเลือกไหนก็ได้ผลลัพธ์เดียวกัน คือพ่อแม่พาลูกไปอาบน้ำได้เหมือนกัน ซึ่งบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการโดยไม่ต้องเสียอารมณ์กันทั้งสองฝ่ายค่ะ

ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจหนู
พ่อแม่ที่มักจะหงุดหงิดใส่ลูกหรือพยายามควบคุมลูกทุกอย่าง โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดและตัดสินใจเองเลย ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะได้ทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ลูกกลับเป็นฝ่ายได้รับผลเสียค่ะ เพราะลูกจะกลายเป็นเด็กไม่อยากคิด ตัดสินใจเองไม่ได้ ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จนไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้

ถ้าพ่อแม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับลูก ก็มีแนวโน้มที่ลูกจะเป็นเด็กก้าวร้าว อารมณ์ร้าย ระบายอารมณ์ด้วยการทำร้ายผู้อื่น เพราะลูกไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง และเคยเห็นแบบอย่างของอารมณ์ที่รุนแรงจากพ่อแม่ด้วยค่ะ

เด็กแต่ละคนมีพื้นอารมณ์ที่แตกต่างกันมาตั้งแต่เกิด พ่อแม่จึงไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นที่อาจจะแสดงอาการต่อต้านที่น้อยกว่า แต่ควรลองสังเกตว่าลูกมีพื้นอารมณ์อย่างไร และเลือกวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับลูกด้วยค่ะ

--

จากบทสัมภาษณ์ พญ.อัมพร สันติงามกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

ขอขอบคุณ : นิตยสารรักลูก
เรียบเรียงโดย : ทีมงานพัฒนาการเด็ก
URL : www.พัฒนาการเด็ก.com/2013/01/strategies-for-kids.html

3 comments:

2bungbung กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ

Supatha กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ มีเทคนิคเพิ่มขึ้นแล้ว

คุณแม่น้องนีน่า on 5 มีนาคม 2556 เวลา 10:36 กล่าวว่า...

เห็นด้วยเรื่องการพูดคุยอย่างเข้าใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นๆ ค่ะ

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย