รศ.ดร.จิตตินันท์ บอกว่า เด็กปฐมวัยจะมีความสุขสนุกสนานกับการเล่นในชีวิตประจำวันตามความสนใจ และความพอใจของตนเอง ขณะที่เล่นนั้นเด็กได้ใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการสำรวจคุณสมบัติของสิ่งที่เล่น ไม่ว่าจะเป็นคนที่เล่นด้วยหรือวัตถุสิ่งของหรือของเล่น พร้อม ๆ ไปกับการรับรู้สิ่งที่เล่นผ่านอวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการทำงานของสมองในการจดจำเป็นข้อมูลความคิดความเข้าใจต่อสิ่งนั้น
"เด็กจะค่อยๆซึมซับและเรียนรู้สิ่งต่างๆผ่านปฏิสัมพันธ์กับคนเล่นหรือของเล่น โดยเฉพาะเมื่อเด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเองและมีผู้คอยชี้แนะให้ข้อมูลหรือสอนให้รู้จักคำบอกของชื่อเรียกสิ่งต่างๆรอบตัว หรือความหมายของสิ่งเหล่านั้นทีละเล็กละน้อย จากเรื่องที่ง่ายๆไปสู่เรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น ตามความสามารถของวัย" การเลือกของเล่นที่ดีเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ตามศักยภาพของเด็ก จึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่ควรคำนึงถึง เนื่องจากของเล่นเป็นสื่อกลางช่วยเปิดโลกภายในของเด็กออกสู่ภายนอก ทำให้เด็กได้ค้นพบความสามารถหรือความถนัดของตนเองด้วยตนเอง และเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กใฝ่เรียนใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้น ทว่าการเล่นของเล่นจะปราศจากความหมาย หากเด็กไม่ได้รับความสนใจเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดในการดูแลเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนการชี้แนะหรือเล่นร่วมกับเด็กเมื่อเด็กต้องการ
รศ.ดร.จิตตินันท์ ได้อธิบายถึงพฤติกรรมการเล่นของเด็ก ว่า เด็กวัย 0-1 ปี เด็กวัยนี้ในช่วงแรกเกิด - 3 เดือน จะยังไม่สนใจกับการเล่นมากนัก แต่เด็กจะเริ่มพัฒนาประสาทสัมผัสการมองเห็นและการได้ยิน การแขวนของเล่นที่สดใสที่แกว่งไกวแล้วมีเสียงกรุ๋งกริ๋งช่วยให้เด็กกรอกสายตา
ส่วนเด็กวัย 1-2 ปี เด็กวัยนี้เริ่มเดินได้เองบ้างแม้จะไม่มั่นคงนักแต่ก็ชอบเกาะเครื่องเรือนเดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ของเล่นควรเป็นประเภทที่ลากจูงไปมาได้ ประเภทรถไฟหรือรถลาก
สำหรับเด็กวัย 2-4 ปี เด็กวัยนี้อยากรู้อยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เด็กเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น และทรงตัวได้ดีเพราะกล้ามเนื้อแขนขาแข็งแรงขึ้นมาก ทำให้ชอบเล่นที่ออกแรงมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิ่งเล่น กระโดด ปีนป่าย ม้วนกลิ้งตัว เตะขว้างลูกบอล และขี่จักรยานสามล้อ
ส่วนเด็กวัย 4-6 ปี เด็กวัยนี้มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ชอบเล่นกลางแจ้งกับเครื่องเล่นสนามและเครื่องเล่นที่มีลูกล้อขับขี่ได้ เด็กพอใจที่จะเล่นกับเพื่อนเป็นกลุ่มมากขึ้น นอกจากนี้
กิจกรรมการเล่นที่เหมาะสม ในเด็กวัย 0 - 1 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นหยอกล้อเด็กด้วยคำคล้องจองมีการแสดงสีหน้าท่าทางและใช้เสียงสูง ๆ ต่ำ ให้เด็กสนใจ เช่น การเล่นปูไต่ การเล่นจ๊ะเอ๋ การเล่นจับปูดำ การเล่นซ่อนหาของ เป็นต้น
ส่วนเด็กวัย 1-2 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นสำรวจที่ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การให้เด็กบริหารแขนขา การเล่นดิน-ทราย-น้ำ การหยิบของตามคำบอก เป็นต้น
สำหรับเด็กวัย 2-4 ปี ควรจัดให้เด็กใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นการแสดงบทบาทสมมติหรือผลงานทางศิลปะ เช่น การเล่นเป็นพ่อแม่ การเล่นขายของ การเล่นสร้างงานศิลปะ เป็นต้น
และเด็ก4-6 ปี ควรจัดให้เป็นการเล่นที่เด็กสามารถสะท้อนความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กเรียนรู้ เช่น การวาดภาพและเล่าเรื่องราว การแสดงบทบาทสมมติ การเล่นที่ใช้ทักษะการสังเกตเปรียบเทียบ
รศ.ดร.จิตตินันท์ แนะนำหลักการเลือกของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างง่ายๆ 4 ข้อคือ
1. ต้องดูที่ความปลอดภัยในการเล่นของเล่นอาจทำด้วยไม้ ผ้า พลาสติก หรือโลหะที่ไม่มีอันตรายเกี่ยวกับผิวสัมผัสที่แหลมคมหรือมีชิ้นส่วนที่หลุดหรือแตกหักง่าย ตลอดจนทำด้วยวัสดุที่ไม่มีพิษมีภัยต่อเด็ก
2.ประโยชน์ในการเล่น ของเล่นที่ดีควรช่วยเร้าความสนใจของเด็กให้อยากรู้อยากเห็น มีสีสันสวยงามสะดุดตาเด็ก มีการออกแบบที่ส่งเสริมให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการ ช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว
3.ประสิทธิภาพในการใช้เล่น ควรมีความยากง่ายเหมาะกับระดับอายุและความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก ของเล่นที่ยากเกินไปจะบั่นทอนความสนใจในการเล่นของเด็กและทำให้เด็กรู้สึกท้อถอยได้ง่าย ส่วนของเล่นที่ง่ายเกินไปก็ทำให้เด็กเบื่อไม่อยากเล่นได้
และ 4.ความประหยัดทรัพยากร ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือผลิต ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยยกตัวอย่างของเล่นที่ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวและการพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น เครื่องเล่นสนามประเภท เสาชิงช้า ราวโหน ไม้ลื่น ไม้กระดาน อุโมงค์ บ่อทราย เครื่องเล่นที่มีล้อเลื่อนได้ เป็นต้น ของเล่นที่ฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ เช่น ของเล่นประเภทบีบ ตี เขย่า สั่น หมุน บิด ดึง โยน ผลัก เลื่อน เป็นต้น ของเล่นที่ฝึกทักษะการใช้สายตาและมือให้สัมพันธ์กัน เช่น ของเล่นประเภทตอก กด ตี ปัก เย็บ ผูก กระดานปักหมุด ผูกเชือก ผูกโบว์ กรอกน้ำใส่ขวด เป็นต้น ของเล่นที่พัฒนาทักษะทางภาษา เช่น ภาพสัตว์ ผลไม้ ตัวพยัญชนะ เทปเพลง เป็นต้น ของเล่นที่ฝึกการสังเกต เช่น โดมิโน กระดานต่อภาพ กล่องหยอดบล็อกต่าง ๆ เป็นต้น ของเล่นที่ฝึกทักษะการแก้ปัญหาและใช้สมาธิ เช่น ภาพตัดต่อ ของเล่นชิ้นส่วนที่ประกอบเป็นสิ่งต่าง ๆ เกมค้นหาชิ้นส่วนที่หายไป เป็นต้นจะเห็นได้ว่าการเล่นและของเล่นสำหรับเด็กในช่วงปฐมวัยมีความหมายและความสำคัญต่อชีวิตเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการเล่น ถือเป็นรากฐาน (foundation) ที่สะสมเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้นในช่วงวัยต่อๆมา เด็กที่ขาดโอกาสในการเล่น หรือไม่เคยมีประสบการณ์ในการเล่น ย่อมมีโอกาสที่จะประสบปัญหาในการเรียนรู้และมีพัฒนาการล่าช้าได้
นำเสนอบทความโดย กระทรวงศึกษาธิการ
ภาพจาก IG : ayumiichi
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก
URL : www.พัฒนาการเด็ก.com/2012/02/choose-toys.html