1.พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
2.พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาสเลือกและปรับแนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
3.เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใดว่าลูกว่าเป็นเด็กเรียนช้าหรือเด็กมีปัญหาเหมือนในโรงเรียน
4.การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
5. และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จากหนังสือและคำบรรยายเท่านั้น
หัวใจของความสำเร็จของ Home School คือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมีลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น
พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน
ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์ อาจารย์ประจำ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ได้กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษาแบบ Homeschooling คือ เชื่อว่าไม่มีใครสอนลูกตัวเองได้ดีกว่าพ่อแม่ จึงเป็นที่มาว่าถ้าพ่อแม่สอนลูกของตัวเอง ก็ไม่ต้องส่งลูกเข้าศึกษาในระบบโรงเรียน
นั่นหมายถึง “การศึกษาในระบบโรงเรียน” ขาดความเชื่อมั่นจากผู้ปกครอง ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ทำให้พ่อแม่คิดว่าสอนด้วยตัวเองดีกว่าส่งลูกเข้าโรงเรียน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องสำรวจความพร้อมของพ่อแม่และลูกก่อนว่าพร้อมที่จะจัดการศึกษาในรูปแบบนี้หรือไม่ คุณต้องตอบคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ให้ได้ก่อนว่า
1. การศึกษาที่แท้จริงนั้นคืออะไร (What an education really is ?)
2. อะไรคือสิ่งที่ลูกๆ ควรได้เรียนรู้บ้าง (What you want your children to learn ?)
3. หน้าที่ของครอบครัวจริงๆ นั้นคืออะไร (How your family functions ?)
4. ลูก ๆ ของเราเรียนรู้ได้อย่างไรบ้าง (How your children learn ?)
เมื่อคุณตอบคำถามใน 4 ข้อดังกล่าวข้างต้น และยังคงยืนยันว่าตัวเองสามารถสอนลูกได้อย่างแน่นอน ก็ต้องมาศึกษารูปแบบวิธีการเรียนรู้ของลูก ๆ คือ
1) การเรียนแบบ Visual Learner คือ เรียนรู้ได้ดีด้วยวิธีการดู อ่านและสังเกตด้วยตัวของเขาเอง (visually viewing read it themselves and look at the pictures watching you do it )
2) การเรียนแบบ Kinetic Learner คือ ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีด้วยวิธีการสัมผัสและทำด้วยตัวของเขาเอง (touching feeling and doing by himself )
3) การเรียนแบบ Auditory Learner คือ ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีด้วยวิธีการบันทึก การฟัง (Lecture Listening tapes and learning to song)
ต่อมาเราต้องรับรู้และเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวกับ Home school (Know the laws in your state) เพราะกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต้องรู้ ซึ่งในแต่ละประเทศมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป เช่น เรื่องหลักสูตร ตารางเรียน จำนวนวัน รายวิชา และการประเมินผล
และสุดท้ายต้องเลือกหลักสูตรและเริ่มต้นสอน (Choose your curriculum and get started) เพราะหลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการศึกษาแบบ Home school ดังนั้น พ่อแม่ต้องศึกษาการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ลูกจะได้รับ โดยพ่อแม่เองต้องรู้ศักยภาพของตัวเองว่าจะสอนลูกในระบบนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง
ในประเทศไทยมีไม่ถึง 100 ครอบครัวที่จัดการศึกษาในรูปแบบนี้โดยใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในการออกแบบหลักสูตร โดยจัดใน 4 ลักษณะ คือ
1. ครอบครัวตกลงกับทางโรงเรียนว่าจะจัดการศึกษาร่วมกัน
2. ครอบครัวดำเนินการเองทั้งหมด
3. จัดโดยกลุ่มครอบครัวแบบเครือข่ายประสานงาน หลายครอบครัวจะร่วมมือกันสอน
4. รวมศูนย์ จัดตั้งเป็นศูนย์หรือโรงเรียนขึ้นมา โดยคณะกรรมการเป็นผู้ปกครอง
Homeschooling จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับครอบครัวที่เชื่อว่า ไม่มีใครสอนลูกตัวเองได้ดีกว่าพ่อแม่
บทความโดย ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์
เรียบเรียงโดย www.พัฒนาการเด็ก.com
6 comments:
มีใครทำ Home School ให้ลูกบ้างคะ สนใจเหมือนกัน แต่ถ้าจะทำต้องตั้งใจเต็มที่ ศึกษาข้อมูลมาตั้งแต่ปีที่แล้ว รู้สึกว่าทำได้ตั้งแต่อนุบาล
จนถึงป.6 จากนั้นไปเข้าระบบต่อก.ศ.น. แล้วต่อมหาวิทยาลัยได้นะคะ
สนใจทำโรงเรียนแบบ Home School มากค่ะ ไม่ทราบว่ากฎหมายไทยอนุญาตให้ใช้ได้รึเปล่าคะ
Home School ในปัจจุบันมีกฏหมายรองรับแล้วนะคะ เพียงแต่ระเบียบปลีกย่อยลงไปอาจยังไม่ชัดเจน ทางเขตพื้นที่การศึกษายังไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ
พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
มาตรา 12 นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 4 "การศึกษาขั้นพื้นฐาน" หมายความว่า การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา*
กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547
ยินดีต้อนรับสำหรับหาข้อมูล และ แนวทางความคิดต่าง ๆ ที่เกิดจากการที่เราทำโฮมสคูลมานะคะ www.facebook.com/homeschoolthaiconnect
คือกำลังสนใจHomeschoolค่ะ แต่อ่านแล้วจากหลายๆเวบ อยากรู้ว่าถ้าใหเลูกเรียนระบบนี้น้องๆจะได้วุฒิการศึกษาอย่างไร? ต้องไปสอบที่ไหน? สามารถได้วุฒิตามประกติหรือไม่ค่ะ? ตอนนี้กำลังมีปัญหาเรื่องเรียนของลูกค่ะเพราะลูกชายโดนครูขี้เมาเขกหัวประจำจนไม่ยอมไปโรงเรียนและน้องพบจิตแพทย์และหมอจืตแล้วค่ะอาการหวาดกลัวเครียดซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากครูคนดังกล่าว และมีผลกระทบไปถึงลูกสาวด้วยค่ะจากพฤติกรรมหมางเมินจากครูสู่เด็ก.. ช่วยแนะนำด้วยค่ะ ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องน้องได้ที่เวบพันทิป จากกระทู้ ทำไงดีค่ะลูกชาย8ขวบหวาดกลัวครูประจำชั้นทำร้ายจนไม่ยอมไปโรงเรียน2เดือนพาไปก็วิ่งร้องไห้กลับบ้าน หรือลิงค์ http://m.pantip.com/topic/34641165?
ช่วยแนะนำด้วยนะค่ะขอบคุณค่ะ
ขั้นตอนการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. เตรียมความพร้อมโดยศึกษาข้อมูลความรู้ในระดับพัฒนาการของลูก และค้นหาความสนใจพิเศษ
2. ยื่นขอข้อมูลและระเบียบการได้จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามที่คุณอาศัยอยู่ เพื่อทำหลักสูตรหรือแผนการสอนของลูก
3. หลักฐานวุฒิการศึกษาของผู้ปกครองต้องไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
4. หากเด็กมีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อ่อนคณิตศาสตร์ ทางเขตจะให้ระยะเวลาซ่อมเสริม เพื่อประเมินใหม่อีกครั้ง
5. ให้ครอบครัวประเมินความรู้ของเด็กตามหลักเกณฑ์ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน โดยทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะตรวจสอบปีละ 1 ครั้ง ว่ามีพัฒนาการตรงตามที่ครอบครัวประเมินไว้หรือไม่ และกำหนดความสามารถของเด็กว่าเทียบได้ในระดับชั้นใด
6. หากครอบครัวใดมีความพร้อมลดลง ไม่สามารถทำโฮมสคูลให้ลูกได้ เด็กสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ ตามระดับชั้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เทียบไว้
ขั้นตอนการทำโฮมสคูลในประเทศไทย
ครอบครัวมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พรบ.การศึกษา และกฎกระทรวงฯ ให้สามารถจัดการศึกษาได้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ อนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น รายละเอียด มีดังนี้
ระดับปฐมวัย (อนุบาล) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเขตพื้นที่การศึกษาว่าจะอนุญาตให้ครอบครัวจดทะเบียนเพื่อจัดการศึกษาบ้านเรียนหรือไม่ (บางเขตพื้นที่การศึกษาก็ไม่อนุญาตโดยอ้างว่าไม่จำเป็นต้องจด ให้พ่อแม่สอนลูกไปเองก่อน ค่อยมายื่นขอจดทะเบียนตอนระดับประถมศึกษา)
ระดับประถมศึกษา ครอบครัวสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียน และจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา
ระดับมัธยมศึกษา ครอบครัวจะต้องยื่นขออนุญาตจดทะเบียนจัดการศึกษากับหน่วยงาน ดังนี้
- สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา
- ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ กศน. (การศึกษานอกระบบ)
- ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ การจัดการศึกษาทางไกล
ครอบครัวจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีและเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา เหมือนโรงเรียนในระบบเช่นกัน
ปัจจุบันได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานครอบครัวบ้านเรียนขึ้น ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อสร้างมาตรฐานการจัดการศึกษาโดยครอบครัวในสังคมไทยไห้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งโฮมสคูลถือเป็นทางเลือกหนึ่งและไม่ใช่สิ่งที่ผิดแตกต่างอะไรกับการเรียนในโรงเรียน เราเคยมีแล้วแต่ถูกลืมไป เพราะใช้ระบบโรงเรียนมากว่าหนึ่งร้อยปี หลังจากนั้นพอเห็นความล้มเหลว หรือความยุ่งยาก จากปัญหาบางอย่างที่มันก่อตัวจากระบบโรงเรียน ทำให้ระบบนี้ฟื้นคืนขึ้นมาอีก
แสดงความคิดเห็น