พัฒนาการเด็ก: 6 เดือน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

6 เดือน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

น้ำนมแม่คืออาหาร ที่ดีและวิเศษสุดของมวลมนุษย์ เป็นอาหาร แห่งความเอื้ออาทรของ แม่สู่ลูก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นศิลปะแห่งความสวยงามของชีวิต เพราะน้ำนมแม่ไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกอิ่มท้องและสร้างความเจริญเติบโตด้านร่างกายของลูกได้อย่างเหมาะสมเท่านั้น แต่ยังพัฒนา จิตใจของแม่และลูกได้อย่างดีเลิศ


ทำไมต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

คุณแม่รู้หรือไม่ว่าตัวคุณแม่เองสามารถสร้างความ ฉลาดให้ลูกได้ ด้วยการให้ลูกกินนมแม่ถึงแม้ว่าความฉลาด (ไอคิว) จะขึ้นอยู่กับสิ่งสำคัญ 3 อย่างคือ กรรมพันธุ์จากพ่อแม่ การเลี้ยงดู และอาหาร ที่เหมาะสม แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้สมองลูกเจริญเติบโตดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่า
1. นมแม่มีสารไขมันที่จำเพาะสำหรับสมองทารกแรกเกิดในระยะ 6 เดือนแรก ร่างกายยังสร้างน้ำย่อยไขมันไม่ได้เต็มที่ นมแม่ก็มีน้ำย่อยไขมันมาด้วย ดังนั้นสารไขมันในนมแม่จึงถูกนำไปใช้สร้างสมองลูกได้อย่างเต็มที่ ต่างจากไขมันที่โฆษณาในนมผสม
2. นมแม่มีสารอาหารอื่นๆ กว่า 200ชนิดที่จะช่วยเสริมการพัฒนาสมองและจอประสาทตา
3. เด็กกินนมแม่สมองดี ตาเห็นได้ดี ช่วยส่งเสริม พัฒนาการมากขึ้น
4. ขณะที่ลูกกินนมแม่ ลูกจะอยู่ในอ้อมกอดของแม่ วันละอย่างน้อย 7-8 ครั้ง
5. การอุ้มลูกเป็นการช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส ทำให้เซลล์สมองมีการโยงใยมากขึ้น ยิ่งโยงใยมาก สมองก็ยิ่งฉลาดมาก ถ้าสัมผัสน้อย การโยงใยก็น้อยกว่า สมองส่วนนั้นก็จะฝ่อไปในที่สุด

ทำไม 6 เดือนแรกให้นมแม่อย่างเดียว

เชื่อว่ามีหลายคนสงสัยคำแนะนำที่ผ่านมาคือ เริ่มให้อาหารเสริมลูกพร้อมนมแม่เมื่อลูกอายุ 4 เดือน แต่ปัจจุบันกลับแนะนำให้นมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน สมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว กินนมแม่ กินข้าวและกินกล้วย ตั้งแต่ 2 เดือน กินน้ำส้มคั้น 1เดือน คือการแสดงความรักของพ่อแม่ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2522 พบว่าควรจะกินนมแม่อย่างเดียว 4 เดือน ตอนนั้นไม่มีใครกล้าระบุ ไป4-6 เดือน เหตุที่ 4-6 เดือน เพราะพบเด็กที่กินนมแม่ผสมข้าว เจ็บป่วยบ่อยเมื่อเทียบกับเด็กที่กินนมล้วนๆ... เวลาผ่านไป 20 ปี องค์การอนามัยโลก ประกาศปี พ.ศ. 2545 ว่า กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพราะว่ามีข้อมูลการศึกษาใหม่ๆ ยืนยันว่า การให้นมแม่อย่างเดียวที่ยาวนานขึ้น มีผลดีต่อเด็กๆ มากกว่า นั่นคือลดโอกาสการเกิดโรคท้องเสีย โรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ รวมทั้งส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กมากกว่าด้วย

ดังนั้น ขอให้คุณแม่เชื่อมั่นว่า 6 เดือนแรกลูกกินนมแม่อย่างเดียว ลูกไม่ขาดน้ำไม่ขาดอาหาร อย่างแน่นอน ที่สำคัญเท่ากับได้เริ่มต้นสิ่งดีๆ ให้กับชีวิตลูกน้อย นั่นคือ
1. ระยะ 6 เดือนแรก สมองลูกเติบโตเร็วมาก นมแม่เหมาะกับสมองที่โตเร็ว
2. ระยะ 6 เดือนแรก ทางเดินอาหารลูกยังย่อยอาหารอื่นได้ไม่ดี นมแม่ย่อยง่ายที่สุด
3. ระยะ 6 เดือนแรก ลูกยังสร้างภูมิคุ้มกัน ได้ไม่ดี นมแม่มีภูมิคุ้มกันมาด้วย
4. ระยะ 6 เดือนแรก กระเพาะอาหารมีขนาดเล็กนิดเดียว ยืดหยุ่นได้ไม่มาก ถ้าได้อาหารอื่น นอกจากไปแย่งที่แล้วอาหารเหล่านี้มีสารอาหารสู้นมแม่ไม่ได้

การให้ลูกกินอาหารอื่นด้วย จะทำให้ลูกมีโอกาสเจ็บป่วยบ่อยกว่า เพราะมีโอกาสจะรับเชื้อโรคที่ปนมากับอาหารเหล่านั้นได้มาก รวมทั้งมีโอกาสแพ้โปรตีนที่ มากับนมผสมหรืออาหารอื่นด้วย และอาหารอื่นเหล่านี้ รวมถึงน้ำด้วย นอกจากจะไปแย่งที่นมแม่แล้ว ทำให้ ลูกอิ่มและดูดนมแม่น้อยลง แม่ก็จะสร้างน้ำนมได้น้อยลง และนมแม่ก็จะหมดไปในที่สุด

นมแม่ดีอย่างไร

ภูมิคุ้มกันจากแม่ถึงลูก
นมแม่มีภูมิคุ้มกัน มีเซลล์คอยดักจับเชื้อโรค สารย่อยสลายเชื้อโรค สารต่อต้านการติดเชื้อต่างๆ ที่ทำงาน ประสานและรวมพลังกัน
นอกจากนี้ ในนมแม่มีสารภูมิคุ้มกันที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ ช่วยกำจัดเชื้อโรค มีวิตามินเอและสารเร่งการเจริญเติบโต ของเยื่อบุทางเดินอาหาร ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายลูกน้อย ได้ยากขึ้น
ภูมิคุ้มกันเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทารกเพราะลูกวัยนี้ยังสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี
ปกติแล้วเด็กแรกเกิดทุกคนได้รับภูมิคุ้มกันเชื้อโรค จากแม่ผ่านทางสายสะดือ ถ้าให้ลูกกินนมแม่ ลูกก็จะได้รับภูมิคุ้มกันจากนมแม่เพิ่มอีกทาง กลายเป็นสองแรงแข็งขันช่วยป้องกันลูกจากเชื้อโรคได้มากยิ่งขึ้น

ลูกแข็งแรง ไม่ป่วยบ่อย
นมแม่ระยะ 1 สัปดาห์แรกเป็นยอดน้ำนม เรียกว่า โคลอสตรัม หรือหัวน้ำนม เป็นน้ำนมที่มีภูมิคุ้มกันสูงสุด คุณแม่ควรให้ลูกได้กินหัวน้ำนมนี้ แม้ว่าตอนหลังจะไม่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ตาม เด็กที่กินนมแม่จะมีโอกาสเจ็บป่วยน้อยกว่าเด็กที่กินนมผสม ประมาณ 2-7 เท่า และลดโอกาสเกิดโรคลำไส้อักเสบในเด็กแรกเกิดถึง 20 เท่า ส่วนโรคอื่นๆ ก็ลดโอกาสเกิดได้ 2-5.5 เท่า เช่น โรคท้องเสีย ปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ภูมิแพ้ และเบาหวาน

ลดภูมิแพ้
ช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต การทำงาน ของส่วนต่างๆ ยังไม่เท่าผู้ใหญ่ เยื่อบุลำไส้ยังไม่แข็งแรง น้ำย่อยอาหารยังไม่เพียงพอที่จะย่อยอาหารเหล่านี้ สารช่วยย่อยหรือสารภูมิคุ้มกันยังทำงานไม่เต็มที่ ถ้าให้ลูกกินอาหารอื่น เช่น นมผง ข้าว กล้วย ลูกก็ยังย่อยได้ไม่ดี นำไปสู่การแพ้ได้ปัจจุบันพบโรคแพ้โปรตีนนมวัวมากขึ้น หากลูกน้อยกินนมแม่เพียงอย่างเดียว จะได้โปรตีนจากนมแม่ที่จำเพาะสำหรับลูกคน ไม่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ แต่ถ้าให้ลูกกินนมผสมก็จะได้โปรตีนนมวัว ซึ่งสำหรับร่างกาย ลูกวัย 6 เดือนแรกถือเป็นสิ่งแปลกปลอม ร่างกาย ของลูกบอบบางไม่สามารถกำจัดออกไปได้ อาจเกิดอาการแพ้

อารมณ์ดี อีคิวเพียบ
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากลูกฉลาดแล้ว ลูกอารมณ์ดี เลี้ยงง่าย ไม่ร้องไห้โยเยบ่อยๆ การให้ลูกกินนมแม่ แม่โอบกอด สัมผัสระหว่างแม่และลูก ทำให้ลูกเกิดความอบอุ่น รู้สึกถึงความรัก ที่แม่มอบให้ ลูกก็จะเกิดความสุขขึ้นในใจ เมื่อลูกมีความสุข ก็เลี้ยงง่าย ไม่โยเย ร่างกายของแม่เองก็หลั่งสารที่ทำให้แม่มีความสุข อารมณ์ดี ขณะให้นมลูก หากแม่ได้สบตา ยิ้มกับลูก ชวนลูก พูดคุย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกให้ค่อยๆ ซึมซับสิ่งที่ดีวันละเล็กละน้อย นำไปสู่การมีอารมณ์ที่ดี อิ่มอุ่นรัก ด้วยนมแม่

เคล็ดลับให้นมลูกอยู่ตรงไหน

การให้นมลูกมีเคล็ดลับง่ายๆ คือ 4 ด.
1. ดูดเร็ว
ลูกได้ดูดนมแม่หลังคลอดทันทีจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมมาเร็วขึ้น ถ้าให้ลูกดูดนมแม่ช้า น้ำนมก็จะมาช้าด้วย
2. ดูดบ่อย
ให้ลูกดูดนมแม่บ่อยตามที่ลูกต้องการ คือหิวเมื่อไหร่ก็ให้ดูดทันที เพราะทารกมักหิวนมทุก 2-3 ชั่วโมงมีข้อยกเว้นระยะ 2-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น ที่จะต้องให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมมา หลังจากนี้ก็ให้ลูกดูดตามต้องการ
3. ดูดถูกวิธี
ท่าดูดนมที่ถูกต้องของลูกก็คือ ปลายจมูกชิดเต้า ปากอมจนมิดลานหัวนม ถ้าลานนมกว้างก็ให้อมให้มากที่สุด คางชิดเต้านมลูกดูดแรงและเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ได้ยินเสียงกลืนนมเป็นจังหวะถ้าลูกไม่ค่อยดูด หรือดูดช้าลง ให้บีบเต้านมเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมเข้าปากลูก
4. ดูดเกลี้ยงเต้า
การให้นมแม่แต่ละครั้งต้องนานพอ คือให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า เพราะน้ำนมในส่วนหลังจะมี ไขมันที่เป็นประโยชน์ต่อสมองและร่างกาย ช่วยให้ลูกอิ่มนานไม่หิวบ่อย

แม่ทำงานนอกบ้านลูกกินนมแม่ได้

ระยะเวลา 3 เดือนที่คุณแม่ลาคลอดเพื่ออยู่กับลูก เลี้ยงลูกเอง เป็นโอกาสดีที่ลูกได้กินนมแม่อย่างเต็มที่

การเตรียมเก็บนมก่อนไปทำงาน
1. คุณแม่ควรเตรียมเก็บนมเป็นระยะตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 1-2 ดังนี้
2. บีบนม เก็บ ตุนให้ลูก เริ่มได้ตั้งแต่เมื่อน้ำนมมาเต็มที่ คือช่วง 1-2 เดือนหลังคลอด (ถุงเก็บนมแม่หาซื้อได้ทั่วไป)
3. บีบให้พอกิน ประมาณ 3-4 ออนซ์ต่อครั้ง
4. ระยะ 2 สัปดาห์ก่อนกลับไปทำงาน นำน้ำนมที่แม่เก็บไว้มาฝึกให้ลูกกิน โดยใช้ช้อนหรือแก้วใบเล็กๆ เอียงป้อน หรือจะใช้ขวดนมก็ได้
ถ้าจะใช้ขวดนมป้อนลูก คุณแม่ควรฝึกหลังลูก อายุ 6 สัปดาห์ไปแล้ว เพราะถ้าฝึกให้เร็วกว่านี้ ลูกจะมีโอกาสติดหัวนมยาง จนไม่ยอมกินนมจากอกแม่
กำชับพี่เลี้ยงว่า ระยะ 2-3 ชั่วโมง ก่อนแม่จะกลับมาถึงบ้าน อย่าเพิ่งให้ลูกกินนมที่เก็บไว้ ให้รอกินจากเต้าแม่ น้ำนมจะได้สร้างได้ต่อเนื่อง

นมแม่เก็บอย่างไรไม่ให้เสีย

การเก็บนมแม่ที่ง่ายที่สุด คือเก็บไว้ในตู้เย็น
การเก็บนมแม่ไว้ในช่องธรรมดา (ไม่มีของอื่นปน) เก็บได้ประมาณ 5 วัน
ถ้าเก็บนมแม่ไว้ในช่องธรรมดา (มีของอื่นปน) จะเก็บได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น
การเก็บนมแม่ไว้ในช่องแช่แข็ง โดยไม่ปนกับอาหารอื่นจะเก็บได้นานถึง 3 เดือนสำหรับบ้านที่ไม่มีตู้เย็น สามารถเก็บน้ำนมไว้ในกระติกน้ำแข็งแทนได้ แนะนำว่าควรเก็บไว้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง เพราะถ้านานกว่านี้ภูมิคุ้มกันในนมจะลดลง จะให้ดีควรเก็บไว้ในตู้เย็นจะดีกว่า
ก่อนเก็บนมใส่ถุงทุกครั้ง จะต้องรีดอากาศออกก่อนปิดถุง

นมแม่...แช่แข็ง

น้ำนมแม่ที่แช่แข็งก่อนที่จะให้ลูกกิน ควรนำมาไว้ที่ช่องธรรมดาก่อน 1 คืน เพื่อให้ละลาย เมื่อจะให้ลูกกิน
1. นำนมมาวางไว้นอกตู้เย็นสักพัก
2. นำนมมาแช่ในน้ำอุ่น แต่อย่านำไปแช่น้ำร้อนหรืออุ่นในเตาไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะจะทำให้ภูมิต้านทานในน้ำนมเสียไป
3. กรณีที่นมเก็บมีปริมาณมาก ให้แบ่งออกมาแค่พอใช้ นมที่เหลือเก็บไว้อย่างเดิม

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการให้เด็กมีต้นทุนทาง สมองที่ดี ไม่ได้แปลว่าน้ำนมอย่างเดียว มีปัจจัยหลัก คือ นมดี มีภูมิคุ้มกัน การสัมผัสทำให้เส้นประสาทเชื่อมโยงมากขึ้น


ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วีระพงษ์ ฉัตรานนท์
ที่ปรึกษาศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

ผู้หญิงกับความเป็นแม่เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากที่ธรรมชาติให้มา เพราะแม่นอกจากให้กำเนิดแล้ว แม่คือผู้ให้อนาคตแก่ลูก ถ้าแม่ให้ความใกล้ชิดกับลูก สามารถจะหล่อหลอมให้ลูกมีอีคิว (ด้านอารมณ์ ศีลธรรม ความอดทนต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี) ซึ่งจะทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงความสำเร็จของตัวเองด้วย ขอย้อนเวลากลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นมีการเลี้ยงลูกด้วยนมผสมมาก แม้กระทั่งหมอไทยที่เดินทางไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา พอคลอดลูกแล้วเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลับถูกมองเป็นของประหลาด หลายคนแห่มาดูกันเลย

เนื่องจากว่าระยะหลังแม่ทำงานนอกบ้านมากขึ้น มีการนำเอานมวัวมาทดแทน คือนมผสม การเลี้ยงลูกด้วยนมผสม ถ้าปฏิบัติไม่ดี ไม่ถูกต้อง ความสะอาดไม่ดีพอ เด็กจะเจ็บป่วยมาก ถึงแม้ทำได้ดี ชงได้สะอาด แต่นมผสมไม่มีภูมิคุ้มกันโรค แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เด็กที่กินนมผสมเป็นโรคติดเชื้อมากกว่าเด็กที่กินนมแม่ ระยะหลังพบว่าความผูกพันระหว่างแม่และลูกห่างเหินกันมาก ทำให้เด็กที่เติบโตขึ้นมา มองเห็นแต่ตัวเอง... จักรวาลของเขาคือตัวเขาเป็นหลัก รอบๆ เป็นสิ่งอื่นที่เขาจะต้องหามา

ปัญหาต่อมาคือ เด็กก้าวร้าว เด็กเกเร อาชญากรเด็กอะไรต่างๆ เนื่องจากเด็กไม่ได้ผูกพันกับพ่อแม่ ตัวเขาเองจะมองว่าอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์กับเขา สิ่งนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง จะต่างกับพ่อแม่สอน เพราะพ่อแม่สอนว่า อย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผิดทั้งศีลธรรมและประเพณีของเรา แต่นี่ไม่ใช่ อะไรก็ตาม ถ้าเขาอยากได้ สิ่งนั้นคือสิ่งถูกต้อง ไม่ใช่คนที่กินนมผสมจะไม่ฉลาด เขาฉลาด เพราะมีพื้นฐานพันธุกรรมจากพ่อและแม่ แต่ถ้าฉลาดแล้วปราศจากความรู้สึกว่าคนอื่นก็เป็นคนเหมือนกันนะ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของเราคนเดียวที่จะเป็นใหญ่ จะเห็นได้ว่าคนที่ฉลาดมากๆ ถ้าโกงเข้าไปแล้ว ยิ่งอันตรายมาก ยิ่งโกงมากขึ้น เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ

การเลี้ยงลูกด้วยนมผสมผิดธรรมชาติ เพราะสิทธิของลูก ลูกต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา ก็คือนมแม่...
1. ถ้าเด็กได้ดูดหัวนมยางเข้าไปแล้วหลายคนจะติดหัวนมยาง
2. ถ้าลูกไม่ได้ดูดกระตุ้นนมแม่ตั้งแต่แรกคลอด และไม่ได้ดูดบ่อยๆ แล้ว ก็จะทำให้นมแม่มาช้า แล้วก็มาไม่มากด้วย ต่อมาก็จะค่อยๆ หายไปเร็วขึ้นด้วย

เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า เพราะอะไร ขอรับตรงๆ เลยว่า ในวงการแพทย์ มีการเรียนรู้เพื่อเป็น ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ หลายสาขาเหลือเกิน ในแต่ละสาขา ขนาดเรียนเรื่องของเขาเองก็ยังเรียนรู้กันไม่หมดเลย เรื่องนมแม่เป็นเรื่องที่เขาไม่ค่อยอยากจะมาจับ เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นสิ่งค้นพบใหม่ๆ เขาไม่ทราบ เขาจะมองไม่เห็นเลยว่า ถ้าเด็กกินนมผสมจะมีปัญหาอะไรต่อไป เขามองเห็นแต่เด็กที่อยู่ในโรงพยาบาล พอเด็กออกจากโรงพยาบาล เด็กเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ต่อไปเด็กจะเป็นอย่างไร เขาไม่เห็น

อีกเรื่องที่คุณแม่ทั้งหลายกังวลกันคือเรื่องรูปทรง
มีทางป้องกันได้คือ พยายาม เปลี่ยนยกทรงตามสภาพขนาดของทรวงอกที่เพิ่มขึ้น และยกทรงนั้นควรจะเป็นยกทรงที่พยุงแต่ไม่รัด และให้ใช้ทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะกลางคืนมีคุณแม่หลายคนไม่ยอมใช้ กลางคืน...แรงดึงดูดของโลก จะดึงลงมา เพราะกายวิภาคของเต้านม มีความยืดหยุ่น ลองดึงหนังสติ๊ก ถ้าดึงหนังสติ๊กยืดไว้นานๆ ก็ไม่กลับที่เดิม

คุณแม่หลายคนตกใจ ช่วงที่ลูกหยุดดูดนมแม่ไปแล้ว ทำไมเต้านมเล็กลง เหี่ยวลง เป็นเรื่องธรรมดา ว่าของอะไรก็ตามเคยมีน้ำอยู่ข้างใน พอไม่มีน้ำก็ต้องลดลง ต่อไปกินอาหารได้ปกติ ออกกำลังกาย ก็จะค่อยๆ กลับขึ้นมาเอง ไม่ต้องห่วง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือการสร้างคนของประเทศชาติ แม่มีความสำคัญเหลือเกิน ผมมองดูแล้วอาจจะสำคัญมากกว่าพ่อ


ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ 
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ปัจจุบันเพิ่งครบกำหนดลาคลอด 90 วันของลูกคนที่ 2 ลูกคนแรกอายุ 2 ขวบครึ่งแล้วและได้กินนมแม่อย่างเดียวครบ 6 เดือน แล้วหลังจากนั้นก็ได้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนครบ 1 ขวบครึ่งก็พอดีตั้งท้องคนที่ 2 ตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะได้รับอิทธิพลจากหนังสือนมแม่ที่คุณหมอวีระพงษ์ ฉัตรานนท์ ให้มาตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ จนเชื่อว่าเราจะได้มีส่วนช่วยสร้างชาติ นั่นคือ การที่เราทำให้เด็กๆ เติบโตแข็งแรงได้รอบด้านด้วยนมแม่ก็เท่ากับได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้สังคม หลายๆ คนอาจเข้าใจผิดว่าจะเสียสรีระ แต่จริงๆ แล้วแม่จะได้ประโยชน์ คือ น้ำหนักจะลดลงเร็วกว่าปกติ มดลูกเข้าอู่เร็ว และช่วยลดความเสี่ยงโรคต่างๆ ความสำเร็จอยู่ที่ "ความตั้งใจ"ถ้าตั้งใจมุ่งมั่นแต่แรกแล้วก็มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ก็ต้องเตรียมหาข้อมูล และทำใจให้พร้อมเผชิญอุปสรรคที่จะเข้ามาในช่วงระยะแรกๆ หลังคลอด บอกได้เลยว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ที่ไม่ง่ายคือ ตอนนี้ความรู้และการให้ความช่วยเหลือแก่แม่ยังไม่ดีพอ เช่น เด็กกินนมแม่จะร้องบ่อยเพราะเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมมามาก ยิ่งดูดบ่อย น้ำนมก็ยิ่งจะมามาก แต่ส่วนมากจะบอกว่า น้ำนมไม่พอ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ยิ่งถ้าไปแก้ปัญหาเอาง่ายๆ ด้วยการให้นมผสม ยิ่งแย่ไปใหญ่ เพราะพอเด็กได้นมผสมก็จะอิ่มท้องและไม่ต้องการดูดนมแม่แล้ว น้ำนมแม่ก็เลยไม่พอจริงๆ แล้วก็มาโทษร่างกายตัวเองว่าน้ำนมไม่พอ ทั้งๆ ที่ถ้าอดทนอีกนิด รับรองน้ำนมไหลมาเทมาแน่นอน แต่เรื่องนี้ โทษแม่ไม่ได้ต้องโทษสังคมที่ยังไม่มีการรณรงค์หรือให้ความรู้ที่ถูกต้องอย่างทั่วถึงจริงๆ แล้ว ความยากของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แค่ช่วงต้นเท่านั้น ถ้าผ่านช่วงสองสัปดาห์แรกไปได้รับรองสำเร็จแน่นอน ในช่วงต้นจะเหนื่อยมากจริงๆ คิดดูว่าหลังคลอดแล้วยังต้องลุกขึ้นมาให้นมอีก ไหนจะเจ็บแผล ไหนจะเจ็บนมเพราะยังไม่ชินกับท่าให้นม ที่ถูกต้อง (ถ้าถูกต้องจะไม่เจ็บหัวนมเลย) ในขณะที่ถ้าลูกกินนมผสม แม่ก็นอนสบายซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งนำลูกกับแม่แยกกันเพราะต้องการให้คุณแม่ได้พัก แต่ความหวังดีอันนี้กลับเป็นอุปสรรคที่ทำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้ทำตามสูตร "ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี"

แม่มีสิทธิยืนยันว่าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยไม่เอานมผสม ซึ่งถ้าแม่แจ้งความประสงค์ชัดเจน ส่วนใหญ่โรงพยาบาลก็จะดำเนินการให้ หรือถ้าได้โรงพยาบาลที่สนับสนุนนมแม่ตั้งแต่ต้นเลยก็ดีกว่า แต่ถ้าบังเอิญไปใช้บริการโรงพยาบาลที่ไม่สนับสนุนนมแม่มีแต่จะให้นมผสม แม่ก็ขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ มีเรื่องน่าเสียดาย หลายๆ คนเข้าใจผิดว่า แม่ต้องกลับมาทำงานแล้วนะ ต้องหย่านมแม่แล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วแม่ยังสามารถให้นมแม่ต่อไปแม้ครบเวลาลาคลอด นั่นคือ การบีบหรือปั๊มน้ำนมแม่เก็บไว้ให้ลูกทานระหว่างที่แม่ไม่อยู่ ซึ่งถ้าเก็บในช่องแช่แข็งสำหรับตู้เย็น 2 ประตูแยกกัน สามารถเก็บนมแม่ไว้ได้นานถึง 3 เดือน

แล้วระหว่างที่เราทำงาน เราก็เจียดเวลามาบีบน้ำนมเก็บเพิ่มอีกด้วย เพราะถ้าไม่บีบออกน้ำนมก็จะแห้ง แต่การบีบน้ำนมก็ไม่กวนเวลาทำงานนัก เทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับละก็คุ้มมาก ๆ สำหรับนายจ้างเองก็คุ้ม มีตัวอย่างโรงงานบางแห่งที่จัดให้มีห้องสำหรับพนักงานมาบีบน้ำนม เจ้าของโรงงานพูดเองเลยว่า เป็นผลดีมากๆ เพราะนอกจากพนักงานจะมีขวัญและกำลังใจทุ่มเททำงานให้ด้วยใจแล้ว ลูกก็ยังป่วยน้อยลงทำให้พนักงานขาดงานน้อยลงด้วย

สำหรับลูกคนแรกตัวเองก็ทำแบบนี้จนทำงานและให้นมแม่อย่างต่อเนื่องได้เป็นปีส่วนคนที่ 2 นี้เตรียมตัวตั้งแต่เดือนแรก จนมีสต๊อกเก็บไว้ 100 ถุง ประมาณ 500 ออนซ์ แต่นี่ยังไม่ใช่แม่พันธุ์นมนะ บางคนเก็บได้มากเป็นพันออนซ์เลยก็มี อุปสรรคสำคัญคือ ความไม่รู้ของคุณแม่และคนรอบตัว เช่น ชอบพูดเหลือเกินว่านมแม่มีประโยชน์แค่ 6 เดือนหลังจากนั้นก็ไม่มีแล้วสู้นมผสมไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก

ดังนั้น จึงน่าจะมีการประชาสัมพันธ์เรื่องนมแม่ให้กว้างขวางกว่านี้ แล้วก็อยากให้บุคลากรทางการแพทย์ นายจ้าง เพื่อนร่วมงาน และสังคมของแม่ๆ เข้าใจ ขอย้ำว่า ถ้าคุณแม่ตั้งใจมั่น ยอมลำบากสักนิดในช่วงต้น รวมทั้งได้รับกำลังใจและความช่วยเหลือที่ถูกต้อง รับรองเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จแน่ๆ


รัตนา พงษ์วานิชอนันต์์ 
ออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูกกด้วยนมแม่เลี้ยง

ลูกด้วยนมแม่เพราะเคยรู้ (ได้รับข้อมูล) เกี่ยวกับประโยชน์ของนมแม่มาก่อน จึงคิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้  นมแม่นอกจากมีภูมิคุ้มกันทางกายแล้ว มีภูมิคุ้มกันทางใจด้วย คือเรื่องความผูกพัน เพราะเวลาให้นมลูก แม่ได้กอดลูกไว้แนบอก ได้สบตากัน ได้ส่งผ่านความรักความอบอุ่นแก่ลูกได้ในทันที เพราะให้นมแม่ ลูกหิว เมื่อไหร่ก็อุ้มลูกแนบอกให้ดูดนมได้ทันที

เนื่องจากคลอดที่โรงพยาบาลของรัฐ และแม่ก็คลอดเอง ทำให้แม่ฟื้นตัวเร็ว เมื่อแม่ฟื้นตัวเร็ว ทางโรงพยาบาลก็จะส่งลูกมาให้เลี้ยงเองในวันรุ่งขึ้นเลย พร้อมกับแนะนำวิธีเลี้ยงและวิธีให้นมแม่ แต่ 1-2 วันแรกน้ำนมยังไม่มา ขณะที่ลูกก็ร้องไห้ทุกๆ 2 ชั่วโมง ก็กังวลเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร พยาบาลบอกว่านมยังไม่มาไม่เป็นไรเดี๋ยวก็มา ระหว่างนี้ก็ให้ลูกดูดกระตุ้นไปเรื่อยๆ วันแรกผ่านพ้นไปตามที่พยาบาลบอก แต่พอวันที่สองนมยังไม่มาหัวนมก็แตก เวลาลูกดูดก็จะเจ็บมากๆ (แต่เจ็บยังไงก็ยังต้องให้ลูกดูดกระตุ้นตามที่พยาบาลบอก) รู้สึกท้อเหมือนกัน เพราะลูกร้องไม่หยุด ปรึกษาพยาบาลอีกรอบว่าทำอย่างไรดี พยาบาลแนะวิธีแก้ปัญหาหัวนมแตกโดยให้ลูกงับหัวนมเข้าไปลึกๆ ถึงลานนม และเรื่องน้ำนมยังไม่มา พยาบาลกระซิบเทคนิคการกระตุ้นและลดความเครียดของเด็กและพ่อแม่ โดยหยดนมผสมบนเต้านมให้ลูกดูด ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาได้ เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่พอเห็นลูกร้องหิวนม แต่นมแม่ก็ยังไม่มาทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องใจอ่อนสงสารลูกหันหานมขวดแทน...อีกวันหนึ่งน้ำนมแม่ก็เริ่มมา และมีน้ำนมให้ลูกดูดอย่างเต็มที่

ช่วง 2 เดือนแรกน้ำหนักลูกขึ้นดีมาก เดือนละ 1 กิโลกรัม แต่พอเดือนที่ 3 ต้องเตรียมตัวกลับไปทำงาน และแม่มีความเครียดเล็กน้อยกลัวว่าน้ำนมที่บีบเตรียมไว้จะไม่พอ กลัวว่ากลับไปทำงานแล้วจะไม่มีเวลาปั๊มนมให้ลูก รวมทั้งจะต้องจากลูกไปทำงานครั้งแรกก็ยิ่งทำให้เครียด พอเครียดก็เลยส่งผลให้น้ำนมน้อยลง ที่สามารถพูดได้อย่างนี้ก็เพราะดูจากน้ำหนักตัวของลูกเดือนที่ 4 เมื่อชั่งดูกลับพบว่าเวลาผ่านไป 2 เดือนน้ำหนักขึ้นแค่ครึ่งกิโลกรัม ความเครียดจากการทำงานช่วงที่เร่งปิดต้นฉบับ (คุณแม่นักเขียน) ก็ส่งผลต่อปริมาณน้ำนมที่ไหลด้วย รวมทั้งสถานที่ในการปั๊มนมให้ลูกก็ต้องไปปั๊มในห้องน้ำ ซึ่งทั้งร้อนและไม่ค่อยมีสมาธิในการปั๊มนมเลยประมาณ

เดือนที่ 3 ลูกไม่ค่อยถ่าย คือจากที่เคยถ่ายทุกวันก็เป็นถ่ายวันเว้นวัน แล้วก็ทิ้งช่วงเป็นวันเว้นสองวัน ก็เลยเกิดความกังวลว่าลูกจะท้องผูกหรือเปล่า แต่ถ่ายก็ไม่แข็งและลูกก็ไม่ร้องไห้โยเย แต่ด้วยความกังวลก็เลยปรึกษาคลินิกนมแม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่เป็นอะไร เพราะนมแม่คงจะดูดซึมเร็ว ทำให้ไม่มีกากมากพอที่จะทำให้ลูกถ่าย ซึ่ง จากสถิติเคยมีเด็กที่ดูดนมแม่แล้วไม่ถ่ายนานถึง 40 วันก็ไม่เป็นอะไร ตอนหลังก็เลยสบายใจว่าลูกไม่ถ่ายเป็นสัปดาห์ก็ ไม่เป็นไร ประหยัดผ้าอ้อมสำเร็จรูปไป

ครอบครัวเห็นด้วยหรือไม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

แรกๆ อาม่าเป็นกังวล กลัวว่านมแม่จะไม่พอ แต่เห็นว่าหลานแข็งแรงดีก็ไม่ได้กดดันอะไรมาก อีกอย่างคืออยู่กัน 2 คนด้วยก็เลยเลี้ยงลูกได้อย่างอิสระตามแบบที่ต้องการเลี้ยง แต่ช่วง 3-6 เดือนที่ลูกน้ำหนักขึ้นน้อยแล้วอาม่ารู้ก็เครียดเหมือนกัน เพราะเขาจะบอกว่าให้ซื้อนมกระป๋องมาเสริมให้ลูกบ้าง แล้วเรื่องที่ไม่ให้น้ำลูก ก็เป็นปัญหาจะถูกญาติโน้มน้าวต่างๆ ว่าทำไมไม่ให้ลูกกินน้ำ (นมแม่มีน้ำร้อยละ 80) อีกเหตุผลหนึ่งคือบ้านอยู่ใกล้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งรณรงค์เรื่องนมแม่ เวลาพี่ๆ ที่ทำงานมาเยี่ยมแล้วเจอกับอาม่า ได้คุยอธิบายให้อาม่าเข้าใจ ความกดดันจากอาม่าก็ลดน้อยลง (ถ้าพูดเองอาม่าจะไม่ค่อยฟัง) แต่ช่วงเดือนหลังๆ ลูกสัก 4-5 เดือนลูกจะแข็งแรงและร่าเริงไม่เคยเป็นหวัดไม่เคยป่วย อาม่าก็เลยเปลี่ยนท่าที มาชมว่าเพราะให้นมแม่ ลูกเลยแข็งแรงและอารมณ์ดี และบอกว่าพยายามให้ลูกกินนมแม่มากๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 336
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ
URL: www.พัฒนาการเด็ก.com/2016/01/6Months.html

3 comments:

Aisuru.Dew กล่าวว่า...

ตัวเองก็เลี้ยงลูกด้วยนมเรา แต่พอน้อง 6 เดือน ก็อยากให้อาหารเสริม

แต่ ... ลูกสาวดันกินไม่เก่ง ก็เลยให้นมแม่เป็นหลัก ตอนแรกๆก็กังวล

แต่ ... พอได้คุยกับรุ่นพี่ที่ลูกสาวพี่เค้า อายุ 11 ปีแล้ว ตัวโต เรียนเก่ง พี่
.........พี่เค้าบอกว่าลูกพี่ไม่กินอะไรเลย นอกจากนมพี่ จนถึง 2 ขวบ และกินต่อถึง 4 ขวบแต่ก็กินข้าวบ้าง
.........ยังปกติ เช่นนั้น อย่ากังวลไปเลย ลูกคนก็ต้องกินนมคนสิ่

สู้ๆ แม่ๆทั้งหลาย

Pcd.Kkl.Pamuang กล่าวว่า...

น้องมีนา อายุ 6เดือนแล้ว ดื่มนมแม่ และนมผสมด้วยค่ะ นมแม่เริ่มไม่มีแล้วค่ะ

แม่น้อง กล่าวว่า...

6 เดือน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ทำได้จริงค่ะ

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย