พัฒนาการเด็ก: ทีวีพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิคที่คร่าชีวิตลูก คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

ทีวีพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิคที่คร่าชีวิตลูก

ทีวีพี่เลี้ยง อิเล็คทรอนิคที่คร่าชีวิตลูก



พี่เลี้ยง ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับครอบครัวยุคปัจจุบันที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่ แม้ว่าแต่ละครอบครัวจะมีจำนวนบุตรไม่มากซึ่งต่างจากยุคก่อน ในอดีตที่มักมีบุตรหลายคน แต่ถึงกระนั้น พี่เลี้ยงหาได้เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะคุณแม่เพียงคนเดียวสามารถรับมือกับเจ้าตัวน้อยได้อย่างสบายๆ แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ครอบครัวไทย มักเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันตามลำพังพ่อแม่ลูก ซึ่งจะหาครอบครัวขยายในสังคมไทยนั้นก็มีเป็นจำนวนน้อยค่ะที่จะมีญาติผู้ใหญ่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ทำให้ต้องดิ้นรนหาพี่เลี้ยงแบบมีคุณภาพและไว้ใจได้ ซึ่งก็หาได้ยากจริงๆ แต่น่าแปลกใจที่หลายครอบครัว เฟ้นหาพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพและไว้วางใจได้ แต่กลับมอบความไว้วางใจให้กับพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิค

ทีวี ได้กลายเป็นพี่เลี้ยงประจำครอบครัว ที่แทบทุกบ้านไม่ว่าจะยากดีมีจนล้วนแต่มีพี่เลี้ยงนี้ด้วยกันทั้งสิ้น กว่าจะรู้ตัวว่าลูกรับข้อมูลขยะเข้าไปในสมอง ลูกก็แสดงพฤติกรรมแปลกๆ ทำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่งงงวยไปตามๆ กัน หรือบางทีอาจไม่รู้ถึงมหันตภัยที่ตามมาทำให้ละเลยจนเกือบสายเกินไปหรือจนกระทั่งมารู้อีกทีลูกก็ติดทีวีงอมแงมเสียแล้ว

นี่คือสภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่คุณพ่อคุณแม่ยากที่จะรับมือได้จริงๆ และนับว่าสร้างความกังวลใจไม่น้อยไปกว่าปัญหาอื่นๆ ของลูก ดังผลการศึกษาของสถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา เมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยได้เลือกศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,015 คน ซึ่งเป็นเด็กวัยประถมศึกษาที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ 5 เมืองสำคัญ ๆได้แก่ กรุงเทพมหานครฯ นครสวรรค์ นนทบุรี ชลบุรี และนครราชสีมา พบว่า เด็กใช้เวลาระหว่างสัปดาห์ คือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ดูทีวี โดยเฉลี่ย 5.1 ชั่วโมง ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของสำนักวิจัยเอแบคโพล เมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่พบว่า เด็กในเมืองใช้เวลาเฉลี่ย 3-5 ชั่วโมง ในการดูทีวี นอกจากนี้ยังพบอีกว่าโดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ คือวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กจะเกาะติดอยู่หน้าทีวีมากถึง 9.47 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยตลอดทั้งปีเด็กใช้เวลาดูทีวี 6.1 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 2,236 ชั่วโมง ในขณะที่เด็กใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนน้อยกว่าดูทีวีเสียอีก คือประมาณ 1,600 ชั่วโมง !!

ทีวี...พี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิคผู้รับการเชื้อเชิญเข้ามาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ในครอบครัวด้วยความเต็มใจ

จากผลการวิจัยการดูทีวีของครอบครัวดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าทีวีได้กลายเป็นพี่เลี้ยงของเด็กๆ ในครอบครัว โดยได้รับการอนุญาตและเชื้อเชิญจากคุณพ่อคุณแม่ด้วยความเต็มใจจริงดังที่กล่าวหรือไม่นั้นคุณพ่อคุณแม่ ลองพิจารณาจากเหตุการณ์ต่อไปนี้ จะพบว่าลูกรักอยู่กับพ่อแม่หรืออยู่กับ ทีวี...พี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิคมากกว่ากัน...

ยามเย็นสนธยา ...ความว้าวุ่นของคุณแม่
”หนูอย่าเพิ่งกวนแม่สิคะ... ดูทีวีไปก่อน อาหารเสร็จแล้วแม่จะยกไปให้นะจ้ะ...” เหตุการณ์แบบนี้เดขึ้นในครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่หรือไม่คะ เมื่อลูกกลับจากโรงเรียน คุณแม่ต้องเข้าครัว จึงมักฝากลูกไว้กับ ทีวี...พี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิค เพื่อคุณแม่จะได้ทำอะไรๆ ในครัวได้สะดวกสักหน่อย ไม่มีตัวเล็กมาป้วนเปี้ยนให้ต้องหวาดเสียวว่าจะคว้ามีดที่วางไว้บนเขียงเตรียมหั่นผักผลไม้ หรือคว้าหม้อที่ร้อนซึ่งวางบนโต๊ะเพราะเพิ่งยกลงจากเตา

วันหยุดสุดสัปดาห์ที่บรรยากาศสบายๆ ...โอกาสพักผ่อนของคุณพ่อคุณแม่
พรุ่งนี้วันหยุด แม่เตรียมข้าวกล่องไว้ในตู้เย็น หนู (ลูกคนโตวัย 13 ปี) อุ่นเอาเองในไมโครเวฟได้เลยนะลูก อุ่นเผื่อของน้องๆ (วัย 10 และ 7 ขวบ) ด้วยนะจ้ะ วันเสาร์มีรายการทีวีดีๆ ในสำหรับเด็กเยอะแยะเชียว

แม้กระทั่งวันหยุดยังใช้บริการพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิคแบบหัวเป็นน๊อตตัวเป็นเกลียว แบบนี้ต้องจ่ายค่าตอบแทนแพงขึ้นตามการใช้งาน ก็ค่าไฟฟ้าประจำเดือนไงล่ะค่ะ เพราะคุณพ่อคุณแม่ต้องการมีเวลาส่วนตัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ตามลำพังกันบ้าง

วันปิดเทอมอันแสนยาวนาน...โอกาสพักผ่อนของคุณลูก
พี่จุ๊บแจง (พี่เลี้ยงตัวจริง) จะอยู่เป็นเพื่อนหนูนะคะ หนูอย่าออกไปซุกซนนอกบ้านนะคะ แล้วกลับจากที่ทำงานคุณพ่อจะซื้อขนมมาฝากนะจ้ะ
พี่เลี้ยงตัวเป็นๆ และพี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิคช่วยกันดูแลลูกรักในช่วงปิดภาคเรียน แบบนี้เห็นบ่อยๆ ในหลายครอบครัว เพราะช่วยปิดเทอมยาวนาน บางทีก็ไม่รู้จะเอาลูกฝากไว้กับใครดี ใช่มั้ยคะ และแล้วพี่เลี้ยงตัวจริงก็เป็นคนเปิดทีวี... ให้พี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิคช่วยเลี้ยงน้องแทนตัวเอง เพราะพี่เลี้ยงนี่เก่งฉกาจเอาน้องอยู่กับที่ได้เป็นชั่วโมงๆ เลยทีเดียว

ผลกระทบต่อพัฒนาการของลูก
เราได้เห็นแล้วว่า ทีวี...พี่เลี้ยงอิเลคทรอนิคมีเวลาอยู่กับลูกรักหลายช่วงเวลาจริงๆ นี่เองที่ทำให้ย่อมส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูก ซึ่งพัฒนาการของลูกรักนั้นมีองค์ประกอบ 4 ด้านด้วยกัน คือพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา หากลูกเจริญเติบโตอย่างสมวัย พัฒนาการทั้ง 4 ด้านจะเจริญงอกงามอย่างเหมาะสม แต่ทว่าหากมีคลื่นรบกวนการเจริญเติบโตที่ควรจะเป็นไปตามพัฒนาการตามวัย คือจากสื่อทางทีวี โดยเฉพาะถ้าลูกอยู่ในช่วงระหว่างอายุ 6-12 ขวบ ที่ปรับเปลี่ยนจากความชื่นชมในการได้เล่นสนุกๆ ใช้แรงมากๆ มาเป็นความสนใจการเล่นที่ใช้แรงน้อยลง และการเล่นโดยใช้จินตนาการ จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กในช่วงวัยนี้ง่ายที่จะติดทีวีงอมแงมเชียวค่ะ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อพัฒนาการที่สำคัญๆ ดังนี้ค่ะ

ด้านร่างกาย
ลูกรักที่อยู่ในช่วงวัยเรียนเป็นวัยที่มีพัฒนาการด้านร่างกาย โดยเฉพาะสามารถใช้กล้ามเนื้อที่ต้องอาศัยกิจกรรมการเล่น การออกกำลังกาย ดังนั้นการนั่งลุ้นติดจอเพื่อดูรายการโปรดหน้าทีวีจึงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อพัฒนาการด้านร่างกายของลูกค่ะ นอกจากนี้ยังส่งผลข้างเคียงต่อระบบประสาทและสายตาด้วยค่ะ

...ระบบประสาท...ปวดศีรษะ...สายตา ดูหนังการ์ตูนญี่ปุ่นอันตายถึงวูบ เป็นพาดหัวข่าวเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เหตุเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเด็กญี่ปุ่นมากกว่า 700 คน มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนและเป็นลมวูบหมดสติขณะดูการ์ตูนยอดฮิตเรื่องหนึ่งจนถึงกับต้องหามส่งโรงพยาบาล ต่อมาพบว่าเกิดจากภาพและแสงสว่างจ้าจากจอทีวีที่ติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ทำให้ออกซิเจนเลี้ยงสมองไม่ทัน จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้มีการศึกษาวิจัยที่ประเทศอังกฤษ และได้ข้อสรุปว่า แสงที่กระพริบเร็วมีผลต่อระบบประสาทโดยอัตรากระพริบแสงต่ำสุดทำให้เกิดอาการกับระบบประสาทคือประมาณ 18 ครั้งต่อวินาที จากนั้นทำให้การแพร่ภาพในประเทศอังกฤษถูกควบคุมให้กระพริบภาพได้ไม่เร็วกว่า 3 ครั้งต่อวินาที และมีข้อแนะนำว่า การดูทีวีอย่างมีความสุข คือไม่มีภาพกระพริบเร็วและจ้าเกินไปและควรอยู่ห่างจากจอ อย่างน้อย 6 ฟุต โดยเปิดดูรในห้องที่เปิดไฟสว่าง จะช่วยลดผลจากการกระพริบของภาพและไม่เป็นอันตรายต่อสายตาด้วยค่ะ

...โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่อ่อนแอ ไม่เพียงส่งผลกระทบที่เห็นทันตา ยังมีผลกระทบที่แฝงตัวอยู่อย่างยาวนานและน่ากลัวด้วยค่ะ ดังที่มีการวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของทีวีเกี่ยวพัน กับสุขภาพโดยนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ที่ได้ทำการศึกษาเด็กตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป พบว่าอิทธิพลของทีวีเกี่ยวพันกับสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี ที่ติดทีวีมีผลทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีระดับไขมันสูง ติดบุหรี่ และเกียจคร้านที่จะออกกำลังกายจนกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนในที่สุด เมื่อได้ผลการวิจัยนี้ นักวิจัยจึงย้อนกลับไปศึกษาผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาและบำบัดแล้วพบว่า เป็นคนอ้วน 17% คนติดบุหรี่ 17% แล้วยังพบอีกว่ามีประวัติติดทีวีตอนเด็กจนโต โดยดูทีวีนานเกิน 2-3 ชั่วโมง ทุกคนเลยทีเดียว

ด้านจิตใจและอารมณ์
กว่าลูกของเราจะเติบโตผ่านพ้นไปในแต่ละวัยได้ซึมซับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูก หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ไหวตัวและรีบรับมือโดยเร็วค่ะ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ที่มักได้รับอิทธิพลจากทีวีดังเช่น

ก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง มีการศึกษาระยะยาวเพื่อติดตามพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายนานถึง 18 ปี ของ ดร.เจฟฟรี จอห์นสัน แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่าเด็กๆ ที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวีมากกว่าวันละ 1 ชั่วโมง มีแนวโน้มก้าวร้าวขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และพบว่าเด็กในกลุ่มที่ดูทีวีวันละมากกว่า 3 ชั่วโมง เคยใช้ความรุนแรงในขณะเป็นวัยรุ่นถึง 28.8% เมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มที่ดูทีวีวันละ 1-3 ชั่วโมง และต่ำกว่า 1 ชั่วโมง พบว่าเคยใช้ความรุนแรงในขณะเป็นวัยรุ่น 22% และ 5.7% ตามลำดับ การวิจัยครั้งนั้น ดร.จอห์นสัน ได้สรุปว่าผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กดูทีวีมากกว่าวันละ 1 ชั่วโมง

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวีมากได้รับอิทธิพลด้านอารมณ์อย่างมาก เด็กเกิดความชินชากับความรุนแรงในทีวี ซึ่งผลของรายการทีวีที่รุนแรงนี้เด็กอาจแสดงทันที หรือค่อยๆ ปรากฏภายหลังก็ได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเฝ้าระวังและไม่มองเห็นว่า พฤติกรรมโลดโผนรุนแรงของลูกเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ

สมาธิสั้น มีรายงานผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กวัยเรียนที่เป็นโรคสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ได้นานเพียงพอ ถ้าเป็นเด็กเล็กเวลาเล่นของเล่นแต่ละชิ้นก็จะเล่นในช่วงสั้นๆ แล้วเปลี่ยนของเล่นไปเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญของโรคนี้มาจากเด็กไม่มีพัฒนาการตามวัย เพราะเล่นเกมคอมพิวเตอร์และดูทีวีมากเกินไป

โรคนี้พบในเด็กไทยด้วยค่ะ พญ.เพ็ญศรี กระหม่อมทอง หัวหน้ากลุ่มอนามัยเด็กวัยเรียนและเยาวชน กรมอนามัย กล่าวว่า...ในไทยนั้นเริ่มพบเด็กที่เป็นโรคนี้มากขึ้น แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีจำนวนเท่าใด ทั้งนี้เด็กในวัยแรกเกิด ถึง 6 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการของเด็ก ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการกระตุ้นโดยพ่อแม่เป็นผู้สอน ดังนั้นการที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ นานๆ จะทำให้เด็กไม่มีพัฒนาการสมวัยและมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมาธิสั้นด้วย...

ขาดความอดทน และไร้วินัย เด็กที่ใช้เวลาดูทีวีมาก มักเป็นเด็กที่มีอารมณ์แปรปรวน เมื่อไม่ได้สิ่งใดทันใจจะโมโหง่าย ทะเลาะกับพี่กับน้องหรือแม้แต่กับคุณพ่อคุณแม่เมื่อถูกขัดใจ เพราะคุ้นเคยกับความสะดวกรวดเร็วทันใจจากการดูทีวี อยากดูช่องไหนก็กดรีโมทเปลี่ยนได้ฉับไว และยังทำให้เป็นเด็กที่เบื่อง่าย นอกจากนั้น การดูทีวีไปเรื่อยๆ ตามที่แรงดึงดูดของรายการทีวี จะพาไปทำให้เด็กสนุกสนานในความเพลิดเพลินจนไม่รู้ว่าควรจะใช้เวลาทำสิ่งอื่นอย่างไร เวลาไหน กลายเป็นคนไร้วินัยในชีวิตไป

อยากได้ อยากมี นักการตลาดสอนเรื่องการตลาดว่า เด็กคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญซึ่งจะติดสัญลักษณ์หรือยี่ห้อของสินค้า ดังนั้นนักธุรกิจและนักการตลาดจึงพยายามทำให้สัญลักษณ์ของสินค้าติดอยู่ในสมองของเด็ก โดยมักใช้ทีวีเป็นช่องทางขายของให้เด็ก ซึ่งแม้เด็กไม่มีกำลังจ่ายแต่มีคุณพ่อคุณแม่ที่รักลูกพร้อมจ่าย เพื่อให้ลูกรักได้สิ่งที่อยากได้อยากมี แม้ไม่อยากซื้อแต่จำใจต้องซื้อให้ เพราะถูกลูกรบเร้าหนักเข้า อีกทั้งโดยปกติไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกอยู่แล้ว จึงคิดว่าเป็นการชดเชยให้ลูก ลูกจึงได้รับการเติมด้วยวัตถุภายนอก แทนความต้องการภายในทางจิตใจทั้งที่เป็นสิ่งซึ่งลูกโหยหาอยากได้รับจากคุณพ่อคุณแม่มากที่สุดค่ะ

ด้านสังคม
พัฒนาการของลูกรักไม่ได้มีเพียงด้านร่างกายและจิตใจหรืออารมณ์เท่านั้นค่ะ พัฒนาการด้านสังคมเป็นอีกด้านหนึ่งที่มีการพัฒนาไปพร้อมกัน เพื่อเตรียมตัวลูกรักออกไปสู่โลกภายนอก เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ค่ะ ดังนั้น ลูกรักจึงจำเป็นมีพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างสมดุล แต่ทว่ากลับมีสิ่งรบกวนพัฒนาการด้านสังคมของลูกที่อยู่ใกล้ตัวในบ้าน คือทีวี อย่างที่คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจไม่เคยนึกมาก่อนค่ะ

ดังการเผยแพร่ผลสำรวจของสถาบันนักวิชาการด้านกุมารเวชศาสตร์ แห่งสหรัฐอเมริกัน ในวารสารกุมารเวชศาสตร์ ที่ได้ระบุว่าการดูทีวีได้เข้าไปรบกวนกระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่เด็กพึงมีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ หรือสมาชิกในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ลองจินตนาการดูซิคะว่า หากทีวีไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในครอบครัวแล้ว สมาชิกในครอบครัวน่าจะพูดคุยกันมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่นะ...

นอกจากรายงานฉบับนี้ยังสรุปว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูทีวีเลยค่ะ แต่ถ้าอายุเกิน 3 ขวบแล้ว สามารถดูได้วันละ 30 นาที ซึ่งถ้ามากกว่านี้จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจด้วยค่ะ ไม่เพียงเฉพาะจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสังคมเท่านั้น เนื่องจากเด็กจะนั่งอยู่แต่หน้าจอ ไม่ได้พูดคุยกับใครและไม่ได้ออกกำลังกาย ซึ่งแน่นอนจะตามมาด้วยโรคอ้วน และเด็กที่ติดทีวีมักใช้เวลาสร้างโลกส่วนตัวเล็กๆ ของตัวเองแทนการสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างค่ะ ซึ่งย่อมจะสร้างปัญหาเมื่อโตขึ้นแล้ว ออกไปเผชิญสังคมที่ขยายแวดวงมากขึ้นนอกเหนือจากสังคมแคบๆ ในครอบครัวค่ะ ที่อาจมีความเข้าใจและเห็นใจที่สังคมภายนอกลูกมักไม่ได้รับแบบที่เคยรับในครอบครัว ในที่สุดจะสร้างภาวะให้อนาคตลูกต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความตึงเครียด เพราะไม่สามารถประสบกับความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือการดำเนินชีวิตในสังคม เพราะไม่มีทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง อย่างที่เราอาจเคยพบเคยเห็นบุคคลประเภทนี้ค่ะ ซึ่งหากติดตามค้นหาสาเหตุมักพบว่า มาจากความบกพร่องของพัฒนาการด้านสังคมในวัยเด็กค่ะ

ด้านสติปัญญา
ลูกรักกำลังอยู่ในวัยที่มีความสามารถรับรู้และคิดคำนึงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เป็นช่วงที่มีพัฒนาการด้านสติปัญญาอย่างเป็นระบบ จากการสร้างมโนภาพในใจ การใช้เหตุผลเบื้องต้น จนถึงสามารถเข้าใจในเรื่องที่ค่อยๆ ซับซ้อนเพิ่มขึ้นตามวัย แต่ทว่ามีคลื่นรบกวนจากทีวี... เพราะการดูทีวีมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง เด็กที่ดีทีวีมากๆ จะไม่มีการเล่นบทบาทสมมติซึ่งเป็นการเล่นที่มีผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็ก ตรงกันข้ามเด็กที่ไม่ดูทีวีมากจะมีเวลาเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมากกว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้จากผู้คนรอบข้าง ไม่ใช่กับทีวีซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ไม่สามารถมีปฏิกิริยาโต้ตอบ ทำให้เด็กขาดการเรียนรู้เพราะใช้ ทักษะเพียงด้านเดียว คือการฟัง และยังขาดการพัฒนาตนเองด้าน การรู้คิด เพราะเป็นฝ่ายเปิดรับข้อมูลจากทีวีแต่ฝ่ายเดียว

ทีวีมีข้อดี...บ้างไหมหนอ
ได้กล่าวถึงผลกระทบของทีวีต่อพัฒนาการของลูกมาเสียมาก คุณพ่อคุณแม่อาจนึกในใจว่า แล้วจะทำอย่างไรกับทีวีที่มีอยู่ในบ้าน บางบ้านมีตั้งหลายเครื่องเสียด้วย ซึ่งความจริงแล้วทีวีมีคุณอนันต์ด้วยค่ะ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้แนวทางที่จะดึงประโยชน์จากทีวีค่ะ

แนวทางใช้ประโยชน์จากทีวี ...พี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิค
การใช้ประโยชน์จากทีวี คุณพ่อคุณแม่ต้องร่วมใจกันนะคะ เพราะถ้าอีกคนปฏิบัติแต่อีกคนไม่ปฏิบัติ จะไม่บรรลุผลสำเร็จและในที่สุดการปล่อยปละละเลยจะเกิดขึ้น ทำให้ลูกมีอิสระเลือกดูรายการทีวีได้ตามต้องการ ซึ่งเด็กไม่มีวิจารณญาณพอที่จะเลือกสรรได้ค่ะว่าสิ่งใดดีมีประโยชน์

แนวทางใช้ประโยชน์จากทีวีที่คุณพ่อคุณแม่พึงปฏิบัติร่วมกันนั้น มีดังนี้ค่ะ

มีข้อตกลงชัดเจนระหว่างพ่อแม่และลูกให้ดี
คุณพ่อคุณแม่ควรตกลงกันชัดเจนว่าจะอนุญาตให้ลูกว่า... ดูทีวีได้วันละเท่าไร ซึ่งไม่ควรเกินวันละ 1-2 ชั่วโมง ...ดูได้เวลาไหน โดยเรียงลำดับกิจกรรมให้ลูกอย่างเหมาะสม เช่น ทำการบ้านให้เสร็จก่อน ไม่รับประทานอาหารไป ดูทีวีไป หรือในวันหยุด ควรมีกิจกรรมอื่นแทรกให้เด็กทำเป็นบางช่วง ไม่ควรปล่อยให้ลูกนั่งติดจอตลอดเวลา โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้หลายบ้านเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีที่มีรายการให้ชมได้ตลอด 24 ชั่วโมง จบเรื่องนี้ต่อเรื่องนั้น จบเรื่องนั้นต่อเรื่องโน้น ซึ่งมีการสำรวจการใช้เวลาของครอบครัวพบว่า ร้อยละ 51 ของครอบครัว ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการดูทีวี ทั้งที่มีกิจกรรมที่สมาชิกในครอบครัวสามารถทำร่วมกันในเวลาว่างได้อีกตั้งมากมาย
การมีข้อตกลงชัดเจน แต่ทว่าไม่เป็นไปตามที่ตกลงคงไม่เป็นประโยชน์ ตรงนี้ล่ะค่ะที่เป็นโจทย์ยากยิ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัว เพราะส่วนใหญ่มักตกหลุมออดอ้อนของลูก ...อีกแป๊บเดียวแม่ ...ใกล้จบแล้วฮะ ขออีกเดี๋ยวนะคะ บางรายใช้ลูกไม้อาละวาดลงไปดีดดิ้นและมักได้ผล เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี ต้องยอมแต่โดยดี แบบนี้ลูกจับได้ว่าใช้วิธีนี้ได้ผลดีแฮะ... เลยใช้วิธีนี้อีก แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะปราบลูกได้อยู่หมัด กลับกลายเป็นถูกลูกปราบเสียอยู่หมัดแทน

คุยกับลูก...รายการไหนที่ว่าดี
ดูรายการใดได้บ้าง ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ควรรู้ว่าวัยของลูกเหมาะสมกับรายการแบบใด เช่น ถ้าลูกยังเล็กมากประมาณ 2-3 ขวบ สิ่งที่ได้รับจากทีวีมีเพียงภาพเคลื่อนไหว ทักษะในการมองเห็นและการใช้ภาษา ดังนั้นรายการที่เลือกให้ลูกดูจึงไม่ควรมีเนื้อหาที่ซับซ้อนนะคะ อาจชวนลูกออกเสียงตามหรือป้อนคำถามง่ายๆ และไม่ควรให้ดูเกิน 15 นาทีค่ะ สำหรับลูกวัย 3-5 ขวบที่สามารถติดตามเนื้อหาที่ซับซ้อนขึ้นแต่ต้องเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวนะคะ โดยไม่ควรดูให้เกิน 15-30 นาที และป้อนคำถามที่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ส่วนลูกวัย 6-8 ขวบ เลือกรายการที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยต่อไป คือวัยพรีทีน โดยไม่ควรให้ดูเกิน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงนะคะ
เห็นแล้วใช่หรือไม่คะว่า ทีวี...พี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิค ไม่ได้มีแต่ข้อเสียอย่างเดียว ข้อดีก็มี อยู่ที่จะเลือกใช้ประโยชน์จากรายการต่างๆ ที่เหมาะสมกับวัยของลูกอย่างไร ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรคัดเลือกสิ่งที่ดีให้ลูกรักนะคะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมีการฝึกอบรมผู้ผลิต และควบคุมผู้ผลิตสื่ออย่างเป็นระบบ ดังเช่นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 เห็นชอบในแนวทางและมาตรการการใช้สื่อของรัฐเพื่อการศึกษาและเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยกำหนดให้สื่อโทรทัศน์จัดสัดส่วนเวลาสำหรับเนื้อหาสาระของรายการเพื่อเด็กร้อยละ 10-15 นาที ของเวลาออกอากาศ และยังได้กำหนดระยะเวลาออกอากาศระหว่าง 8.00-22.00 น. เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ แต่ทั้งนี้เห็นว่าถ้ามีการฝึกอบรมบุคคลที่ใกล้กับผู้รับสื่อตัวน้อย คือคุณพ่อคุณแม่ด้วยอย่างเป็นระบบว่าจะเลือกสรรสิ่งดีจากรายการต่างๆ ในทีวี และจัดการให้การดูทีวีเป็นประสบการณ์เรียนรู้ของลูกได้ อย่างไร คงจะดีไม่น้อยนะคะ เพื่อจะได้ ไม่ปล่อยให้ ทีวี...พี่เลี้ยงอิเล็คทรอนิค มีอิทธิพลต่อลูกรักมากไปกว่านี้ค่ะ

ขอขอบคุณ นิตยสารบันทึกคุณแม่ เมษายน 2005
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ
URL: www.พัฒนาการเด็ก.com/2016/01/TV2.html

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย