พัฒนาการเด็ก: คู่มือพ่อแม่...สร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกน้อย คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

คู่มือพ่อแม่...สร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกน้อย

หนังสือภาพคือหนังสือเล่มแรกของลูก
หนังสือภาพมีความสำคัญมากต่อพัฒนาการของลูก เปรียบได้กับอาหารมื้อหนึ่งของวันที่เป็นอาหารมื้อสำคัญ เพราะเป็นทั้งอาหารสมองและอาหารใจ พ่อแม่ที่มีรายได้จำกัดก็ยังต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับซื้อหนังสือภาพให้ลูก แม้ว่าร่างกายของเด็กจะเติบโตขึ้นมาได้โดยไม่ต้องมีหนังสือภาพ แต่จิตใจและสมองของเด็กก็ต้องการอาหารเหมือนกัน



หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย ๐-๓ ขวบ    
หนังสือภาพสำหรับเด็กวัยทารกนี้ ไม่ใช่หนังสือสำหรับอ่าน แต่เด็กจะสนใจหนังสือภาพเหมือนของเล่นชิ้นหนึ่ง เด็กจะเห็นหนังสือภาพเป็นของสี่เหลี่ยมที่มีภาพติดอยู่ และเปิดได้ พอเปิดเข้าไปดูข้างในก็มีภาพต่าง ๆ หลากสีเรียงรายกันอยู่ในแต่ละหน้า เด็กจะรู้สึกสนุกกับการค้นพบสิ่งที่น่าสนใจนี้ เช่น ถ้าเปิดหน้าไหนแล้วพบภาพสิ่งที่เด็กรู้จัก เช่น แมว สุนัข รถ กล้วย ส้ม เด็กจะยิ่งสนใจมาก และส่งเสียงร้อง บื๋อ บื๋อ เมื่อเห็นภาพรถ เลียนเสียงเห่า บ๊อก บ๊อก เมื่อเห็นภาพสุนัข และใช้นิ้วจิ้มภาพเหล่านั้นด้วยความดีใจ
     
หนังสือภาพที่เหมาะสม ควรเป็นหนังสือภาพที่มีสัตว์ ผัก ผลไม้ รถชนิดต่าง ๆ สิ่งของในชีวิตประจำวัน ภาพเหล่านี้ควรเป็นภาพเหมือนจริง วาดโดยศิลปินฝีมือดี มีความสวยงาม ดูแล้วรู้สึกประทับใจ ไม่ควรเป็นภาพนามธรรม หรือภาพสีลูกกวาดที่ไม่มีความหมาย และไม่ควรมีฉากหลัง หรือส่วนประกอบภาพที่รกรุงรัง
     
หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย ๒-๓ ขวบ
พอถึงวัย ๒ ขวบ เด็กแต่ละคนจะเริ่มมีความชอบต่างกันแล้วแต่สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ทำให้การเลือกหนังสือภาพเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ดังนั้นควรเลือกหนังสือที่เด็กสนใจ ไม่บังคับให้เด็กดูแต่หนังสือภาพที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน เพราะหนังสือภาพไม่ใช่ตำราเรียน แต่มันคือความสุขของลูก
     
เด็กเล็กมีประสาทสัมผัสทางหูที่ดีมาก หากมีประสบการณ์ด้านภาษา และเสียงที่ดี เด็กจะพัฒนาศักยภาพทางภาษา และดนตรีได้ดี โดยเฉพาะในช่วงวัย ๒-๔ ขวบ เด็กจะสนใจฟังเสียงและภาษาที่มีจังหวะ บางคนจำหนังสือที่ชอบได้ทั้งเล่ม และอ่านได้ถูกต้องทุกหน้า ทุกตัวอักษร เหมือนอ่านหนังสือออก ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกภูมิใจมาก ดังนั้น หนังสือภาพที่มีบทกวีดี ๆ จึงเหมาะที่สุดสำหรับอ่านให้เด็กวัยนี้ฟัง เด็กจะจำได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
     
ส่วนเด็กอายุ ๓ ขวบ เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาที่รวดเร็วอย่างน่าทึ่ง มีจินตนาการสร้างสรรค์ และมีความอยากรู้อยากเห็นมากด้วย สามารถติดตาม และเข้าใจเรื่องเล่าง่ายๆ ได้แล้ว ชอบฟังเรื่องซ้ำไปซ้ำมา เรื่องไหนที่ชอบมากจะให้คุณพ่อคุณแม่อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้น หากลูกวัยนี้มีประสบการณ์ทางภาษาที่ดี (วรรณกรรม) และภาพที่ดี (ศิลปกรรม) จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่านในอนาคต

หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย ๔-๖ ขวบ    
เมื่อเข้าสู่วัย ๔ ขวบ ความสามารถทางภาษาของเด็กพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ความชอบของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้การเลือกหนังสือภาพมีข้อจำกัดมากขึ้น หนังสือภาพสำหรับเด็กวัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิทาน และเรื่องเล่าที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับเด็ก
     
เด็ก ๔ ขวบ เป็นวัยสร้างพื้นฐานทางด้านจินตนาการสร้างสรรค์ เมื่อเด็กฟังนิทานทางหู และเข้าไปอยู่ในโลกของนิทาน ในหัวก็จะวาดภาพไปตามเรื่องราวที่ได้ยิน

ภาษาเล่าเรื่องเป็นภาษาที่มองด้วยตาไม่เห็น แต่เมื่อเด็กได้ฟังนิทาน ภาพของตัวละครในนิทานจะปรากฏขึ้นอยู่ในหัว แม้ว่าตรงหน้าเด็กจะไม่มีอะไรเลย แต่พลังของเรื่องราวที่เด็กได้ยินจะทำให้เด็กวาดภาพขึ้นเองในสมองได้ อย่างไรก็ตาม ภาพของหนังสือภาพจะช่วยให้เด็กวาดภาพเหล่านั้นในสมองได้ง่ายขึ้น
     
ความสามารถของเด็กในการวาดภาพขึ้นเองในสมองจากภาษาซึ่งมองด้วยตาไม่เห็นนี้ คือ พลังจินตนาการสร้างสรรค์ ซึ่งจะกลายเป็นพลังเรียนรู้จากการอ่านหนังสือในอนาคต หากเด็กไม่มีประสบการณ์ในการฟัง รับรู้ และวาดภาพจินตนาการเอง รู้จักแต่วิธีประสมอักขระ และอ่านหนังสือออกตามตัวอักษร เด็กอ่านหนังสือออกก็จริง แต่อ่านไม่เข้าใจลึกซึ้ง และวัย ๔ ขวบนี้เอง เป็นวัยสำคัญของการสร้างพื้นฐานนี้
     
ส่วนเด็กวัย ๕ ขวบนั้น พ่อแม่ควรหาหนังสือภาพที่เด็กหลงใหลให้ได้ ๑ เล่ม ส่วนมากเด็กจะชอบหนังสือภาพนิทาน และเรื่องที่ยาวขึ้น แต่ไม่ควรซื้อหนังสือภาพนิทานให้มากมายจนอ่านแทบไม่ทัน เพราะบางครั้งเด็กก็อยากให้อ่านหนังสือภาพนิทานเล่มเดียวกันทุกคืน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ติดต่อกันหลายสัปดาห์ โดยการค้นหาหนังสือที่ชอบมากเป็นพิเศษนี้ มีความหมายต่อเด็กมากเปรียบเสมือการค้นพบขุมทรัพย์อันล้ำค่าทีเดียว

พ่อแม่บางท่านอาจรู้สึกเบื่อที่ต้องอ่านเรื่องเดียวซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ขอให้อดทนอ่านเพื่อลูก เด็กบางคนจดจำคำบรรยายอันยาวเหยียดได้ทั้งเล่ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก ประสบการณ์นี้ เด็กจะไม่ได้รับในโรงเรียน แม้แต่ในชั่วโมงสอนภาษาก็สอนเด็กไม่ได้ลึกซึ้งฝังใจเหมือนภาษาของหนังสือภาพนิทาน
     
เมื่อถึงวัย ๖ ขวบ พ่อแม่สามารถอ่านนิทานเรื่องยาวให้ลูกฟังเป็นตอน ๆ ติดต่อกันทุกวันได้ หรืออ่านร่วมกันกับลูก เด็กก็จะรู้สึกสนุก และเฝ้ารอคอยฟังตอนต่อไปในวันรุ่งขึ้น

นิทานหรือบทประพันธ์ ควรเป็นเรื่องราวที่ชวนให้เด็กรู้สึกสนุกกับการสร้างจินตนาการ และใช้ภาษาที่เหมาะสมสำหรับการอ่านให้เด็กฟัง เมื่อเด็กอ่านหนังสือออก เด็กจะอ่านเรื่องที่เคยฟังแล้วซ้ำอีก เรื่องเด็กชอบมาก เด็กจะสนุกกับมันนานนับปีที่เดียว

บทสรุป
๑. หนังสือภาพเพื่อเด็กไม่ใช่หนังสือที่ให้ประโยชน์ต่อเด็กในทันทีทันใด แต่เป็นหนังสือที่ให้ "ความสุขและความสนุก" แก่เด็ก และช่วยจุดประกายความสนใจที่มีต่อหนังสือให้เกิดขึ้นในใจเด็ก
     
๒. หนังสือภาพเพื่อเด็ก ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กอ่านเอง แต่เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง เป็นสื่อกลางสร้างความสุขในครอบครัว และสร้างพื้นฐานด้านมนุษยสัมพันธ์แก่เด็ก
     
๓. หนังสือภาพที่เด็กชอบเป็นพิเศษควรอ่านให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่าที่เด็กร้องขอ เพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างความสามารถในการอ่านหนังสือ และพลังทางภาษา
     
๔. เมื่ออ่านหนังสือภาพจบแล้ว ไม่ควรตั้งคำถามทดสอบความเข้าใจของลูกเหมือนครูในโรงเรียน นอกเสียจากลูกจะถามขึ้นเองจึงค่อยอธิบายให้ฟัง
     
แม้ว่าเด็กจะได้ฟังนิทานจากโรงเรียนอนุบาลทุกวัน แต่ความสุขที่เด็กได้รับก็ไม่เหมือนกับการนั่งฟังอยู่บนตักพ่อแม่ด้วยความรัก ห้วงเวลานี้เอง เป็นเวลาที่เด็กจะเปิดหัวใจกว้าง และพร้อมกับรับรู้ความรักของพ่อแม่อย่างเต็มเปี่ยม จึงไม่ควรละเลยเวลาอันมีค่านี้ อย่างน้อยวันละ ๕-๑๐ นาทีก็ยังดี แล้วพ่อแม่เองจะได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าในอนาคต


ขอขอบคุณ สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ
URL: www.พัฒนาการเด็ก.com/2016/01/read.html

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย