พัฒนาการเด็ก: เมื่อลูกน้อยป่วย... การดูแลเบื้องต้น คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

เมื่อลูกน้อยป่วย... การดูแลเบื้องต้น

“เมื่อลูกน้อยมีอาการงอแงผิดปกติย่อมทำให้พ่อแม่เกิดความกังวลใจอย่างไรก็ตาม การหาสาเหตุเป็นสิ่งที่มีความสำคัญซึ่งสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นมีได้หลายสาเหตุ” เช่น อาการไม่สบายตัว อาการป่วย อาการหิว พ่อแม่ควรหาสาเหตุของอาการที่เป็นไปได้และแก้ไขเบื้องต้น เช่น การเปลี่ยนผ้าอ้อมถ้าคิดว่าสาเหตุเกิดจากความเปียกชื้นของผ้าอ้อม การให้รับประทานนมถ้าคิดว่าเกิดจากความหิว ในกรณีที่ลูกยังมีอาการไม่ดีขึ้น ควรคิดถึงสาเหตุจากความเจ็บป่วย

        ในกรณีที่เกิดจากความเจ็บป่วย พ่อแม่ต้องเฝ้าสังเกตอาการที่ผิดปกติของลูกน้อยซึ่งบางครั้งต้องอาศัยการสังเกตอย่างมาก รวมทั้งประสบการณ์ของผู้เลี้ยงดู โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังพูดหรือบอกอาการไม่ได้ พ่อแม่ควรรู้จักวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นซึ่งเป็นการดูแลรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น

        เมื่อลูกเป็นไข้ ถ้าอาการไข้ไม่สูง ควรเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำที่ไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัด โดยเช็ดค่อนข้างแรงเพื่อให้หลอดเลือดขยายตัวและระบายความร้อนได้ดี ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่ลูกมีผิวค่อนข้างแดง และควรเน้นการเช็ดบริเวณข้อพับ ซอกคอ รักแร้ ในขณะเช็ดตัวควรถอดเสื้อผ้าลูกให้หมด ปิดแอร์หรือพัดลม และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท หลังเช็ดตัว ควรใส่เสื้อบางๆ เพื่อให้ความร้อนระบาย ไม่แนะนำให้ใส่เสื้อหนาๆ หรือห่อลูกหนาๆ เพื่อให้เหงื่อออก เนื่องจากอุณหภูมิอาจขึ้นสูงจนเกิดอาการชักได้ ในกรณีที่ยังมีไข้สูงหลังเช็ดตัว อาจพิจารณาให้ยาลดไข้พาราเซตามอลตามขนาดน้ำหนักเด็ก ดังนี้

ชนิดของยา   ขนาดของยาพาราเซตามอล
ชนิดหยด   1 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม
ชนิดน้ำเชื่อม   1 ช้อนชา (5 ซีซี) ต่อน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม
(หากเป็นยาสำหรับใช้ในเด็กโต ให้ลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง)
ชนิดเม็ด   325 มิลลิกรัม 1 เม็ดสำหรับน้ำหนัก 20-40 กิโลกรัม
ชนิดเม็ด   500 มิลลิกรัม 1 เม็ดสำหรับน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไป
 
        ไม่แนะนำให้ซื้อยาลดไข้สูงหรือใช้ยาลดไข้สูงโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงได้  


        อาการที่ควรพามาพบแพทย์ ได้แก่ อาการไข้สูงหรือไข้ไม่ลดหลังการดูแลเบื้องต้นที่บ้าน ซึม ชัก หรือมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะมาก อาเจียนพุ่ง ปวดท้อง 

เมื่อลูกเป็นหวัด

        ถ้าลูกน้อยมีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือจาม การดูแลเบื้องต้นคือ การเช็ดน้ำมูกให้ทางเดินหายใจโล่ง การรักษาร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำและพักผ่อนนอนหลับมากๆ  โดยทั่วไปอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 3-7 วัน
        อาการที่ควรพามาพบแพทย์ ได้แก่ ไอรุนแรง หายใจเร็ว หอบ ซึม น้ำมูกเหลืองหรือเขียวเป็นเวลานาน 

เมื่อลูกปวดท้อง

        อาการปวดท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียน อาการปวดท้องที่อาจมีความสำคัญคือ อาการปวดท้องรุนแรงจนลูกน้อยต้องหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ หรือร้องกวนมากในเด็กอายุน้อยมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียน ปัสสาวะหรืออุจจาระผิดปกติ ไข้
        เมื่อลูกมีอาการปวดท้อง พ่อแม่สามารถใช้น้ำอุ่นมาประคบบริเวณท้อง และให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดและอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น น้ำอัดลม ถั่ว
        ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น ควรพามาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม 

เมื่อลูกอาเจียน

        อาการอาเจียนเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กและเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในกรณีที่ลูกน้อยมีอาการอาเจียน พ่อแม่สามารถดูแลเบื้องต้นโดยการให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย  ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อและเพิ่มจำนวนมื้อที่รับประทาน ทดแทนน้ำและเกลือแร่โดยการจิบน้ำผสมผงเกลือแร่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นควรพาไปพบแพทย์
        อาการอื่นที่ควรพามาพบแพทย์ได้แก่ อาเจียนเป็นสีเหลืองคล้ายน้ำดี อาเจียนพุ่ง ปากแห้งมาก ตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ปัสสาวะออกลดลง หรือมีอาการอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ซึม ชัก   

เมื่อลูกถ่ายเหลว

        ในกรณีที่ลูกน้อยมีอาการถ่ายเหลว พ่อแม่สามารถดูแลเบื้องต้นโดยการให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย อาจลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อและเพิ่มจำนวนมื้อที่รับประทาน แต่ไม่แนะนำให้เจือจางนม เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เด็กขาดอาหาร นอกจากนี้ควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นควรพาไปพบแพทย์
        อาการอื่นที่ควรพามาพบแพทย์ ได้แก่ ถ่ายเป็นมูกปนเลือด มีอาการขาดน้ำอย่างมาก เช่น ตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ปัสสาวะออกลดลง หรือมีอาการอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ซึม ชัก  

สรุป

        ส่วนมากอาการป่วยของลูกน้อยที่เกิดขึ้น เป็นอาการที่พ่อแม่สามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้นที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม อาจต้องอาศัยการสังเกตและประสบการณ์ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถพูดหรือบอกอาการชัดเจนได้  ในกรณีที่ลูกน้อยป่วยรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นจากการดูแลเบื้องต้นที่บ้านควรนำมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม


ขอขอบคุณข้อมูลจาก ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ
URL: www.พัฒนาการเด็ก.com/2016/01/sick.html

1 comments:

Monnokpop กล่าวว่า...

ช่วงนี้อากาศหนาว ดูแลลูกน้อยกันดีๆนะค่ะ เป็นห่วง

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย