พัฒนาการเด็ก: เจ้าหนู...คอเอียง? คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

เจ้าหนู...คอเอียง?


         เจ้าตัวเล็กนอนคอเอียงอยู่หรือเปล่าคะ? แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นอาการปกติของเด็กที่คอยังไม่แข็ง หรือมีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกแล้ว!

ทำไมคอเอียง

         โดยทั่วไปเด็กที่คอเอียงสามารถแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ

        คอเอียงแต่กำเนิด ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่เด็กอยู่ในท่าผิดปกติระหว่างอยู่ในครรภ์ หรือเกิดภาวะครรภ์มีน้ำน้อยหรืออาจจะเกิดจากสาเหตุที่ตาของเด็ก บางคนไม่เท่ากัน ทำให้เวลาเด็กมองต้องเอียงคอตามไปด้วย รวมทั้งจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เกิดจากเนื้องอกที่กล้ามเนื้อบริเวณคอไปกระตุ้นให้คอเอียง ปัญหากระดูกคอติดเชื้อ และต่อมน้ำเหลืองโต

        คอเอียงหลังคลอด ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ ทำให้กระดูกล็อกและเกิดคอเอียงในที่สุด เช่น จากการเล่นกีฬาหรือหกล้ม เป็นต้น


ความแตกต่างแบบไหนไม่ปกติ

         ระหว่างลูกคอไม่แข็งและภาวะคอเอียงสามารถสังเกตได้ดังนี้ค่ะ

        เด็กที่คอยังไม่แข็ง แม้คอจะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะสามารถนอนหันหน้าได้ทั้ง 2 ด้าน

        ภาวะคอเอียง ลักษณะที่คอเอียงไปทางซ้าย แต่เด็กจะหันหน้าไปทางขวาหรือถ้าคอเอียงไปทางขวาก็จะหันหน้าไปทางซ้าย เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณคอยึดตึงเด็กจึงคอเอียงและหันหน้าไปด้านตรงข้ามในเด็กเล็กที่อาการคอเอียงยังไม่มาก วิธีสังเกตที่ชัดเจน คือ เด็กจะนอนหันหน้าไปข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา ถ้าคลำบริเวณหลังหูหรือใต้หูของด้านที่เอียงจะพบว่ามีก้อนเนื้อ ถ้าได้รับการดูแลและบริหารกล้ามเนื้อคอสม่ำเสมอ อาการคอเอียงก็จะหายได้เองและไม่เป็นอันตราย

คอเอียง...ภาวะที่ต้องรักษา

         เด็กที่คอเอียงแล้วไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น เมื่อโตขึ้นจะส่งผลต่อโครงสร้างใบหน้าและกะโหลก เช่น มีใบหน้าไม่สมดุล (หน้าเบี้ยว) ซึ่งถ้าเกิดกรณีแบบนี้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่กลุ่มนี้จะพบในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทยค่ะ

          ภาวะคอเอียงจะไม่ส่งผลต่อพัฒนาการของลูก แต่จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลกัน และไม่ส่งผลต่อการใช้สายตาของเด็ก เพราะดวงตาของเด็กไม่ได้เอียงตามไปด้วย นอกจากเด็กมีดวงตาที่เขมากจนทำให้คอเอียง ซึ่งกรณีนี้ต้องได้รับการรักษาที่ดวงตาค่ะ

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ

        หมั่นสังเกตอาการ ถ้าลูกหันคอไปด้านใดด้านหนึ่งตลอดเวลา ไม่สามารถหันได้ทั้ง 2 ด้าน ควรพาลูกไปตรวจหาสาเหตุ ถ้าลูกมีปัญหาคอเอียงผิดปกติ คุณหมอจะช่วยจัดท่าในขั้นแรก เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้ไปทำต่อให้ลูกอย่างถูกต้อง และทราบว่าควรบริหารกล้ามเนื้อมากน้อยแค่ไหนจึงจะเหมาะสมกับลูก เพราะหากบริหารมากเกินไป กล้ามเนื้อบริเวณนั้นอาจบวมช้ำได้

        จัดท่านอนและบริหารกล้ามเนื้อคอ ควรทำให้ลูกเป็นประจำ เช่น ถ้าลูกนอนเอียงคอไปด้านใด ก็จัดให้นอนหันไปในด้านตรงกันข้าม

        ให้ใช้ของเล่นที่ลูกชอบจับ ชอบเล่นเป็นประจำ สำหรับหลอกล่อลูกเพื่อฝึกให้ลูกหันคอทั้ง 2 ด้าน

        เปลี่ยนท่าให้นม เพื่อทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอของลูกได้ขยับและยืดหยุ่น จนคอทั้ง 2 ด้านสมดุลกัน

คุณหมอแนะนำ

        จัดท่านอนและบริหารกล้ามเนื้อคอวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที แต่ถ้าลูกมีอาการคอเอียงมากจนกล้ามเนื้อคอเป็นพังผืด เมื่อบริหารคอตามเวลาที่คุณหมอแนะนำ ลูกอาจจะร้องเพราะเจ็บ จึงควรจัดท่านอนให้เหมาะสมกับการบริหาร เพื่อให้กล้ามเนื้อคอของลูกยืดหยุ่นได้ง่าย

        หากบริหารคอมาระยะหนึ่ง แต่ยังไม่หายเป็นปกติ ควรกลับไปพบคุณหมอ เพื่อทำกายภาพบำบัดหรือใส่ที่พยุงคอและวิธีสุดท้ายคือการผ่าตัดกล้ามเนื้อ เพื่อรักษาอาการคอเอียงค่ะ

         แม้ว่าภาวะคอเอียงจะเป็นปัญหาที่ไม่หนักจนน่าห่วง แต่ก็ไม่ควรละเลย เพราะยิ่งรู้เร็ว รักษาเร็ว ลูกก็จะหายเป็นปกติค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารรักลูกฉบับที่ 327 เมษายน 2553
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ
URL: www.พัฒนาการเด็ก.com/2016/01/neck.html

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย