หากท่านมีลูกคนหนึ่งซนมาก อยู่ไม่เป็นที่ เบื่อง่าย ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความสนใจถูกหักเหโดยแสง สีเสียงเพียงเล็กน้อย อาการต่างๆที่กล่าวเป็นอาการของเด็กสมาธิสั้นหรือที่เรียกว่า Attention Deficit Hyperactive Disorder เด็กจะไม่สามารถนั่งวางแผนหรือทำงานให้สำเร็จลุล่วง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำงานที่ใช้ทักษะ โรคนี้พบมากในเด็กประมาณร้อยละ 3-5 พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 2-3 เท่า อาการนี้สามารถดำเนินจนถึงวัยรุ่นทำให้เกิดความเครียด
อาการของเด็กสมาธิสั้น
การวินิจฉัยโรคนี้ไม่ง่ายเหมือนกระดูกหัก หรือปอดบวม เพราะโรคพวกนี้สามารถเห็นด้วยตาหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นจะอาศัยพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. การขาดสมาธิ Inattention โดยสังเกตพบว่า
- เด็กจะสนใจงานหรือของเล่นเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นหลังจากนั้นก็จะเบื่อ
- ไม่มีความพยายามที่จะทำงานที่ต้องใช้ทักษะ
- มีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
- ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน หรือเวลาเล่น
- ไม่สามารถตั้งใจฟัง และเก็บรายละเอียดไม่ได้
- ขี้ลืมบ่อย
- วอกแวกง่าย
2. Hyperactivity เด็กจะไม่อยู่นิ่งและควบคุมตัวเองไม่ได้
- เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
- เล่นไปรอบห้อง
- พูดคุยตลอด พูดไม่หยุด
- เมื่อนั่งอยู่ที่เก้าอี้ก็ไม่สามารถนั่งนิ่งโยกไปโยกมา
- แตะสิ่งโน้นสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา
- เคาะโต๊ะส่งเสียงดัง
- รอคอยไม่เป็น
- ชอบขัดจังหวะเวลาที่ผู้อื่นพูดคุยกัน
- บางคนอาจจะทำหลายๆอย่างพร้อมกัน
3. Impulsivity เด็กจะหุนหัน เด็กจะทำหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยที่ไม่ได้คิด
เด็กอาจจะพูดโต้ตอบโดยที่ไม่คิด ข้ามถนนโดยที่ไม่ดูรถ เด็กจะไม่สามารถรอยคอยสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ เด็กอาจจะแย่งของเล่นจากเด็กคนอื่น เมื่อไม่พอใจเด็กอาจจะทำลายของเล่นนั้น
ในการประเมินว่าเด็กคนใดจะเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่แพทย์จะประเมินพฤติกรรมในเป็นมากเกินไปหรือไม่ เป็นระยะเวลานานหรือไม่ อาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเทียบกับเด็กอื่นที่อายุใกล้เคียงกันมีความแตกต่างกัน หรือไม่ พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกเป็นเพียงตอบสนองต่อเหตุการณ์บางอย่างหรือไม่ พฤติกรรมนั้นเกิดซ้ำๆกันต่างเวลาและต่างสถานที่ แต่อย่างไรก็ตามแพทย์จะมีเกณฑ์วินิจฉัยโรคสมาธิสั้นดังต่อไปนี้
1. อาการที่แสดงว่าเด็กอยู่ในภาวะที่มีสมาธิสั้น inattention ได้แก่
- สมาธิของเด็กจะไขว้เขวได้ง่ายโดยอาจจะเกิดจากสิ่งที่มากระทบเพียงเล็กน้อย
- เด็กจะไม่สามารถให้ความสนใจกับรายละเอียด และมักจะเกิดการผิดพลาดจากความประมาท
- มักจะไม่ทำตามคำแนะนำ
- มักจะทำของหายบ่อยเช่น ดินสอ ตุ๊กตา สมุด
2. อาการที่แสดงว่าเด็กไม่อยู่นิ่ง hyperactivity และ impulsivity
- เด็กจะไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นคนอยู่ไม่สุข มือและเท้าหยุหยิกอยู่ตลอดเวลา
- วิ่ง ปีนป่าย หรือลุกจากเก้าในขณะที่เด็กอื่นนั่งกันหมด
- พูดโพล่สวนออกมาโดยที่ยังฟังคำถามไม่เสร็จ
- ไม่สามารถเข้าแถวรอได้
แต่อย่างไรก็ตามเด็กปกติการสามารถมีอาการเหล่านี้ได้ดังนั้นการวินิจฉัยจะต้องอาศัยเกณฑ์คือ
1. พฤติกรรมเหล่านี้จะต้องเกิดก่อนอายุ 7 ขวบ
2. เป็นติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน
3. พฤติกรรมของเด็กจะต้องรุนแรงและมากกว่าเด็กปกติ
4. และที่สำคัญพฤติกรรมเหล่านี้ต้องเกิดอย่างน้อย 2 แห่งเช่น บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน ที่สาธารณะ
โรคอื่นที่มีลักษณะคล้ายกับเด็กสมาธิสั้น
การที่จะวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรค ADHD จะต้องระวังเพราะหากว่าเป็นโรคนี้แล้วจะต้องให้การรักษาเป็นระยะเวลานานดังนั้นจะต้องแยกโรคที่มีลักษณะใกล้เคียงดังตัวอย่างเช่น เด็กปกติมาตลอดแต่เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต เด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เด็กที่หูชั้นกลางอักเสบจะมีปัญหาการสื่อสารกันทำให้เด็กมีปัญหาความสัมพันธ์ โรคที่มีลักษณะคล้ายกันเช่น
- ความบกพร่องในการเรียนรู้ learning disability
- โรคลมชัก
- มีปัญหาการได้ยิน
- เด็กเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมักจะพบร่วมกับโรคอะไรบ้าง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักมีปัญหาทางพฤติกรรม การเรียนรู้ และการเข้าสังคมดังนั้นเด็กบางคนอาจจะมีปัญหาที่พบร่วมกันโรคต่างที่อาจจะพบร่วมกันได้แก่
- มีความบกพร่องในการเรียนรู้
- Tourette's syndrome ผู้ป่วยจะมีการกระตุกของหน้า ร่วมกับการกระพริบตาถี่ๆ
- มีภาวะต้านสังคม เริ่มแรกอาจจะมีการดื้อคำสั่ง ทำร้ายเพื่อเมื่อไม่พอใจ หรืออาจจะทำร้ายตัวเอง หากไม่แก้ไขก็อาจจะกลายเป็นภาวะต่อต้านสังคม อาจจะชอบขโมย จุดไฟเผา ทำลายทรัพย์สิน
- มีความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า
สาเหตุของโรคสมาธิสั้น
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ใครทราบว่าเกิดจากอะไร จากการศึกษาการทำงานของสมองของคนเป็นโรคสมาธิสั้นพบว่าสมองบางส่วนมีการทำงานน้อยกว่าปกติ และยังพบอีกว่าแม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ อาจจะมีผลทำให้สมองเด็กมีปัญหาในการพัฒนา นอกจากนั้นยังพบว่าสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมก็น่าจะมีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ การวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยโรคนี้มีความลำบากเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป โดยที่พ่อแม่หรือคนใกล้ไม่ทันสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นการเกิดโรคก็สามารถเกิดได้ตั้งแต่อายุ 3-7 ขวบ ดังนั้นโรคนี้มักจะวินิจฉัยโดยคุณครูเนื่องจากเด็กที่เป็นโรคจะแตกต่างจากเด็กอื่นค่อนข้างมาก
ขั้นตอนการวินิจฉัย
เมื่อแพทย์ได้รับการปรึกษาจากผู้ปกครองแพทย์จะเริ่มการตรวจวินิจฉัยโรคโดยมีขั้นตอนดังนี้
1. วินิจฉัยเพื่อแยกโรคอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง
- ตรวจดูสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียนว่ามีปัญหาความเครียดให้เด็กหรือไม่ พ่อแม่และครูแก้ปัญหาอย่างไร
- ตรวจดูอารมณ์ของเด็ก
- ตรวจโรคลมชัก
- ตรวจเรื่องการได้ยินและการมองเห็น
- ตรวจเรื่องภูมิแพ้และอาหารที่มี caffiene หากเด็กได้รับมากเกินไปอาจจะทำให้เด็กเกิดซุกซน
2. แพทย์จะประเมินพฤติกรรมของเด็กว่าเข้าได้กับอาการของโรคสมาธิสั้นหรือไม่ นอกจากนั้นแพทย์อาจจะต้องเฝ้าดูพฤติกรรมของเด็กที่โรงเรียนและที่บ้าน
3. แพทย์จะให้ครูทั้งอดีตและปัจจุบันประเมินพฤติกรรมของเด็ก
4. มีการทดสอบความสามารถในการปรับตัว สุขภาพจิต IQ ของเด็ก
5. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินพฤติกรรมของเด็กในสิ่งแวดล้อมต่างกัน เช่นการอ่านหนังสือ ระหว่างคิดเลข ระหว่างการเล่นเกมส์
การรักษา
ยาที่ใช้รักษาเด็กสมาธิสั้นที่ได้แก่ methylphenidate , dextroamphetamine , pemoline ยากลุ่มนี้จะช่วยลดความไม่อยู่นิ่งของเด็กและช่วยให้เด็กมีสมาธิในการเรียนและทำงาน การคัดรายมือและการกีฬา แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่ายาเหล่านี้ไม่ใช่ยารักษาโรค ยานี้เป็นเพียงควบคุมอาการของโรค เชื่อว่าการใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับการใช้ พฤติกรรมบำบัด การดูแลด้านจิตใจ และการประคับประคองอย่างอื่นจะช่วยทำให้เด็กดีขึ้น ข้อที่ต้องระวังของการใช้ยาเหล่านี้ เนื่องจากยาเหล่านี้หากใช้ไม่ถูกต้องอาจจะเป็นเสพติด ดังนั้นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในเด็กมักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องติดยา และเมื่อการรักษาได้ผลต้องให้กำลังใจเด็กว่ากว่าการชื่นชมว่าเป็นผลของยาเพราะจะทำให้เด็กต้องพึ่งยา
พ่อแม่ต้องเรียนรู้วิธีการดูแลเด็ก
ดังที่กล่าวข้างต้น เด็กเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนในสังคม เด็กจะทรมานกับการทำการบ้านแต่แล้วก็ลืมเอาไปส่งครู เด็กจะมีปัญหากับเพื่อนร่วมชั้น พี่น้อง ส่วนพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจเด็กก็จะไม่สนใจเนื่องจากเด็กจะไม่เชื่อฟังพ่อแม่จะไม่สามารถควบคุมเด็ก เด็กจะไม่มีระเบียบวินัย ต่อมาพ่อแม่ก็จะใช้วิธีดุ ตีแม้ว่าจะทราบว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องแต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร พฤติกรรมการดุด่าและการลงโทษจะทำให้อาการของเด็กแย่ลง เด็กจะดื้อมากขึ้น ต่อต้าน ก้าวร้าว วิธีการที่ดีกว่าคือ การให้คำชมหรือรางวาลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง และควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยการงดกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือตัดสิทธิอื่นๆ ทั้งพ่อแม่และเด็กจะต้องปรึกษานักจิตเพื่อช่วยกันประคับประคองความรู้สึก พฤติกรรมให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง พ่อและแม่ต้องพูดคุยกับแพทย์เพื่อที่จะได้ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัด ที่ตัวเด็ก และช่วยแนะนำแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อให้เด็กได้ใช้ความสามารถด้านอื่นทดแทนในส่วนที่บกพร่อง
ผู้ใหญ่ก็เป็นโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคที่เกิดกับเด็กเท่านั้น ปัจจุบันพบว่าผุ้ใหญ่หลายๆคนก็มีปัญหานี้ทำให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ลักษณะต่อไปนี้จะช่วยบ่งชี้ว่าท่านอาจจะเป็นโรคสมาธิสั้น และต้องได้รับการรักษา
- มีประวัติบ่งชี้เป็นโรคสมาธิสั้นในเด็ก
- ใจร้อน โมโหง่าย
- อารมณ์ขึ้นลงเร็ว
- หุนหัน พลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ
- สามารถทนกับความเครียด หรือสิ่งที่ทำให้คับข้องใจได้น้อย
- ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน
- รอยคอยอะไรนานๆไม่ได้
- มักจะทำงานหลายชิ้นในเวลาเดียวกัน และไม่สำเร็จสักชิ้น
- นั่งนิ่งๆอยู่ได้ไม่นาน
- เบื่อง่าย ต้องการสิ่งเร้าใจอยู่เสมอ
- ไม่มีระเบียบ
- เปลี่ยนงานบ่อย เนื่องจากความผิดพลาดในการทำงาน
- ผิดนัด หรือลืมทำเรื่องสำคัญอดยู่เสมอ
- มีปัญหากับคนรอบข้าง เช่น สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก panyathai.or.th
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก
1 comments:
แอบกลัวเหมือนกันนะ ว่าถ้ามีลูกแล้ว จะเป็นอย่างไร ลุ้นๆ
แสดงความคิดเห็น