พัฒนาการเด็ก: การนอนของเด็กทารก สำคัญมากต่อการเจริญเติบโต คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

การนอนของเด็กทารก สำคัญมากต่อการเจริญเติบโต

การนอนของเด็กทารก สำคัญมากต่อการเจริญเติบโตทางสมองของลูกน้อยวัยแรกเกิดจนถึง 5 ปี 




     การนอนของคนเราไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นกระบวนการที่เกิดขื้นเองโดยสมองเราไม่สามารถบังคับตัวเองให้หลับได้ และในขณะที่นอนหลับกลไกการทำงานในร่างกายจะส่งผลต่อส่วนต่างๆ คือกล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ความรับรู้จะลดลง รวมถึงเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะบางส่วนจะน้อยลง แต่ขณะเดียวกันเลือดที่ไปเลี้ยงสมองในบางช่วงอาจมากกว่าในช่วงเวลาปกติด้วย ซ้ำ เพราะในขณะนอนหลับสมองจะไม่ได้หลับตามไปด้วย แต่ยังคงทำงานอยู่ทุกวันเหมือนกับหัวใจ ได้จัดระเบียบสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวัน จัดขั้นตอนความจำระยะสั้นไปสู่ความจำระยะยาวให้เป็นระเบียบ เรียบเรียงข้อมูลที่ได้รับมาเป็นหมวดหมู่ให้เข้าที่เข้าทางพร้อมสำหรับการทำงานในวันต่อไป

     มีผลการวิจัยในเด็กเล็ก พบว่าการนอนหลับของเด็กจะมี 2 ช่วง คือ ช่วงหลับธรรมดาซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายลูกจะสร้างฮอร์โมนเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ สึกหรอ และกระตุ้นการทำงานของร่างกายและมีช่วงหลับฝัน ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางสมองของลูกน้อยวัยแรกเกิดจนถึง 5 ปี เพราะร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองในการเรียนรู้ จดจำ อันเป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการของสมองที่ดี


     กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาพัฒนาการและพฤติกรรมท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยซึ่งได้มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการจากต่างประเทศให้เราทราบ ว่า หากให้เด็กนอนแล้วมาเรียนรู้ ก็จะจำได้ดีขึ้น ทำแบบทดสอบได้ถูกต้อง เหมือนกับว่าการนอนเป็นการเคลียร์สมองให้สดชื่นขึ้น เพื่อจะรับรู้ความรู้ใหม่ได้อย่างเต็มที่

     พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เมื่อให้นอนหลับ สมองของลูกก็จะมีการพัฒนา ร่างกายและอวัยวะต่างๆ ที่ทำงานมาทั้งวันได้ผ่อนคลาย ได้พักผ่อนอารมณ์และจิตใจ ลดการติดเชื้อ สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่จะลืมไม่ได้ และสำคัญมากคือ จะมีการหลั่งของฮอร์โมนที่เรียกว่า โกรว์ธฮอร์โมน (Growth Hormone) ซี่งเป็นฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต ที่จะถูกผลิตออกมาโดยต่อมใต้สมองเวลานอนหลับ แต่โกรว์ธฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาเพียงช่วงสั้นๆ ในขณะที่ลูกรักนอนหลับสนิทเท่านั้น ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น การนอนหลับยังช่วยสร้างฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่ง ที่ส่งผลให้ลูกรักเติบโตได้ดี นั่นคือ ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Hormone) ซึ่งทำหน้าที่ ควบคุมการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ได้ดี ให้เจ้าตัวน้อยได้มีแรงเล่น เคลื่อนไหวคล่องแคล่วทันใจ และสนุกสนานตามวัยได้เต็มที่

“ซึ่งหมายความว่า หากลูกรักได้นอนหลับอย่างเต็มที่ ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยให้เขาเจริญเติบโตได้ดี สุขภาพแข็งแรงสมวัยถูกใจคุณแม่นั่นเอง”

การนอนของทารก 
     สำหรับห้องนอนของลูกนั้น  คนไทยมักยังไม่จำเป็นต้องจัดห้องให้  (ต่างไปจากฝรั่ง)  เพราะว่าคุณมักต้องการดูแลลูกในห้องของคุณแม่เองมากกว่า  ฝรั่งนั้นเขาจะมีห้องของลูกซึ่งอยู่ติดกับห้องคุณพ่อคุณแม่  เวลาที่ลูกร้องเขาจะได้ยินและลุกไปดูได้สะดวก คนไทยเราเพียงแต่จัดเตรียมที่นอนของทารกไว้ใกล้คุณพ่อคุณแม่  ประกอบด้วยเบาะรองสำหรับทารกนอน  ผ้ารองกันอุจจาระ  ปัสสาวะ มีหมอนของเขา มีผ้าห่มสำหรับคลุมตัว  ที่นอนควรมีความแข็งพอสมควร  ไม่ควรใช้เบาะนุ่มนิ่ม  จนตัวทารกจมลงไป หมอนก็ไม่ควรหนานุ่มมาก  จนอาจทำให้ทารกซึ่งนอนคว่ำหน้า  ถูกหมอนอุดรูจมูกไว้หมด  จนหายใจไม่ออก  นอกจากนั้นยังพบว่าน้ำนมอาจจะย้อนออกมา  เนื่องจากการนอนทับกระเพาะอาหารและอาจสำลักเข้าไปในปอดได้

    ทารกควรได้นอนในที่ถ่ายเทสะดวก  สะอาดปราศจากแมลงรบกวนโดยเฉพาะยุงหรือมด  มีอุณหภูมิพอเหมาะประมาณ  24-26  องศาเซลเซียส  ถ้าอากาศร้อนหรือหนาวเกินไปจะรบกวนการนอนของเด็ก  ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับแล้วตื่นเร็วเกินไป  รวมทั้งยังอาจทำให้ไม่สบาย  เจ็บไข้  เป็นหวัด

    ทารกควรได้นอนในที่สงบเงียบ  โดยเฉพาะในวัย  3  เดือนแรกเด็กจะไวต่อเสียงมาก  เมื่อมีเสียงดังมากหน่อยหรือแรงสั่นสะเทือนสักเล็กน้อยก็ทำให้เด็กผวาตื่นแล้ว  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะให้เขาอยู่เงียบคนเดียวหรอกนะ  คนในบ้านก็ยังมีกิจกรรมประจำวันเพียงแต่เบาๆให้เขาหน่อย  จนเมื่ออายุเข้า  4  เดือน  อาการผวาสะดุ้งตื่นจะน้อยลง  อย่างไรก็ตามอย่าสร้างความรำคาญรบกวนขณะนอนหลับ  การที่เด็กทารกได้นอนหลับยาวจะช่วยให้มีการหลั่งฮอร์โมนซึ่งช่วยให้เจริญเติบโตดี  ซึ่งเป็นอย่างนี้ในเด็กโตด้วย  ส่วนผู้ใหญ่การนอนเต็มอิ่มเป็นช่วงเวลาของการซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ

     คุณแม่บางคนเลือกใช้เตียงนอนที่มีซี่กรงรอบด้านมาให้ลูกด้วยเหตุผลว่า  มีความปลอดภัยจากสิ่งรบกวน  เช่น  สัตว์เลี้ยง  หรือพี่สาว  พี่ชายของทารกที่ยังเล็กนัก  รวมทั้งปลอดภัยจากมดแมลงมาไต่ตอม  ทั้งยังทำให้คุณแม่ไม่ต้องพะวงนักเวลาที่ต้องทำภารกิจอย่างอื่นอยู่  อีกอย่างหนึ่งคือ  เตียงนั้นอยู่สูงกว่าพื้นทั่วไป  โอกาสที่จะเจอความสกปรก  ฝุ่นผงจากพื้นก็จะน้อยลง  คุณแม่ควรทราบไว้ด้วยว่า  ความห่างของซี่กรงนั้นสร้างปัญหาให้แก่ทารกได้  เช่น  แขน  ขา  หรือศีรษะ  ของเขาลอดออกมาตรงซี่กรง  เขาจะดิ้นรนหาหนทางเอาออกกลับมาอยู่ที่เดิม  ทำให้แขน  ขา  ได้รับบาดเจ็บ  บางครั้งก็เป็นอวัยวะใหญ่อย่างเช่น  ศีรษะ  ซึ่งมีอันตรายร้ายแรง  เพราะฉะนั้นควรเลือกซี่กรงถี่หน่อย  หมั่นไปดูลูกบ่อยๆ  โดยเฉพาะเมื่อเขาร้องไห้

     หากที่บ้านมียุงมาก  กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ยากลำบากนักควรหามุ้งครอบสะอาดๆ  โปร่งๆ  มาไว้ใช้ด้วย  ยุงนอกจากกัดกินเลือดรบกวนการนอนหลับแล้ว  ยังเป็นพาหะนำโรคตั้งหลายชนิด  ไม่ว่าจะเป็นไข้เลือดออก  โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสแจแปนนิสบี

นอนคว่ำ  นอนหงาย  หรือนอนตะแคงจึงจะดี          
     รูปแบบการนอนของทารกนั้น  มีการวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า  หากทารกนอนคว่ำหรือนอนตะแคง  (ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่นิยมทำกัน)  มีข้อดีคือ  ทำให้ทารกมีรูปศีรษะสวย  อย่างที่เรียกว่า  “หัวทุย”  การนอนคว่ำทำให้อาหารเคลื่อนลงจากกระเพาะอาหารสู่ลำไส้เล็กเร็วขึ้น  ทำให้อากาศในท้องถูกทับแล้วทารกจะเรอออกเอาลมออกมาได้ง่ายขึ้น  ทารกจะหลับได้นานเพราะหน้าอกอบอุ่น  ซุกอยู่กับที่นอน  การนอนคว่ำมีข้อควรระวังคือ  หากหมอนนุ่มเกินไป  จะทำให้ใบหน้า  จมูกของทารกจมลงไปในหมอนจนขาดอากาศหายใจ  ส่วนการนอนตะแคงนั้น ถ้าหากว่านอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งมาเกินไป  ศีรษะก็จะเบี้ยวไปทางนั้น  ส่วนการนอนหงายอย่างที่คนไทยสมัยก่อนมักชอบผูกเปลด้วยผ้าขาวม้าให้เด็กนอนนั้น  รูปหัวก็จะไม่สวย  และเด็กไม่ค่อยสบายตัว  มักจะตื่นบ่อยๆ  อย่างที่ต้องเทียวมาไกวเปลบ่อยๆ  หากทารกอาเจียนออกมาก็จะทำให้เกิดการสำลักเข้าหลอดลมมากกว่าท่านอนตะแคงหรือท่านอนคว่ำ

นอนกี่ชั่วโมงจึงจะดี
            ในระยะแรกเด็กมักจะหลับในตอนกลางวัน  แล้วตื่นตอนกลางคืนเกือบตลอดเวลาเป็นระยะไม่กี่วัน  ซึ่งคุณแม่ต้องปรับตัวใหม่เพื่อดูแลลูกน้อย  ให้ดูดนมเวลากลางคืน  เด็กจะค่อยๆเปลี่ยนมานอนกลางคืนและตื่นกลางวันเอง

จนเมื่ออายุครบ  1  เดือน  การนอนกลางวันใช้เวลา  2-3  ชั่วโมง  และกลางคืนนอนยาวนานถึง   10  ชั่วโมง  แรกเกิดจนถึงอายุ  2  เดือน  ทารกควรได้นอน  16-20  ชั่วโมงต่อวัน  ควรใช้ผ้าห่มตัวทารกให้มีความอบอุ่นพอเหมาะ  ผ้านั้นควรมีการระบายอากาศดี    เช่น  ผ้าห่มสำลีอย่างเนื้อบาง  หรือผ้าขนหนูเนื้อนุ่ม  ไม่ต้องหนามาก  ห่มผ้าไว้เพื่อไม่ให้แขนขาของเขากระตุกขณะหลับ  และต้องไม่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด  ควรเตรียมผ้าห่ม  3-4  ผืน  เพราะเวลาอุจจาระ  ปัสสาวะก็มักเปรอะเปื้อนผ้าห่มไปบ้าง  ผ้าขนหนูที่ใช้ห่มตัวเด็กนี้คุณแม่จะเอาไปเช็ดตัวเด็กหลังอาบน้ำก็ได้        

อายุ  2-3 เดือน 
ควรนอน  15-18  ชั่วโมง  อาจตื่นขึ้นมาเองโดยไม่หิว  คุณแม่ควรอุ้มเดินแล้วพูดคุยด้วย  หากลูกตื่นกลางคืนเพราะหิว  ควรให้น้ำนมแต่ไม่หยอกล้อด้วย  เพื่อให้เด็กได้นอนหลับต่อ  อย่าให้เด็กหลับคาขวดนม  น้ำนมอาจไหลผ่านไปในหู  ทำให้หูอักเสบขึ้นมาได้  จนเมื่อโตขึ้นแล้วก็ไม่ควรให้หลับคาขวดนมเช่นกัน        

อายุ  4-6  เดือน 
นอนกลางคืน  9-12  ชั่วโมง  นอนกลางวัน  2  ครั้ง  ครั้งละ  2-3   ชั่วโมง  คุณแม่ควรฝึกให้ทารกหลับเป็นเวลา  และมีที่นอนประจำ  หากลูกตื่นนอนควรเข้าไปโอ๋  ร้องเพลงกล่อมเบาๆ  ให้เขาหลับต่อ  การสร้างบรรยากาศให้เด็กนอนหลับง่าย  เช่น  การร้องเพลงกล่อมก่อนนอน  เป็นสิ่งสำคัญ  รู้จักกันดีตั้งแต่สมัยโบราณมาจนมีเพลงเห่กล่อมเด็กในสมัยก่อนให้คนปัจจุบันได้ยินได้ฟัง  เด็กจะมีความชอบดนตรี  มีจิตใจอ่อนโยน

เมื่อเด็กอายุได้  6  เดือน
แพทย์บอกว่าเขามีความจดจำแล้ว  หากจะอยากเล่านิทานก็เล่าได้หรือจะรอให้เด็กโตจนพูดได้ก่อนจึงค่อยเล่านิทานให้ลูกฟังก็ไม่เป็นการช้าเกินการแต่อย่างใด  เลือกนิทานที่ดี  สั่งสอนให้เด็กมีคุณธรรม  จริยธรรม  มีความขยัน  หมั่นเพียร        

อายุ   7-8  เดือน 
นอนกลางคืน  10-12  ชั่งโมง  นอนกลางวัน  1-2  ครั้ง  ครั้งละ  2-3  ชั่วโมง  ช่วงวัยนี้ควรให้ลูกเลิกดื่มนมตอนกลางคืนได้แล้วคะ  โดยก่อนนอนก็ให้เขาดื่มนมให้อิ่ม  การตื่นนอนกลางคืน  อาจไม่ใช้เพราะหิวก็ได้  อย่าเพิ่งคว้าขวดนมยัดปากลูกลูกอาจตื่นขึ้นกลางดึกเพราะฝันร้ายก็มี  ควรปลอบโยนตบก้นตบหลังเบาๆ  และก่อนนอนควรเลือกใช้ผ้าอ้อม  (แพมเพอร์ส)  ที่ซึมซับได้ดีจะช่วยให้เด็กหลับได้ยาวนาน  ไม่สะดุ้งตื่นเพราะความเปียกชื้น        

อายุ  9-12  เดือน
นอนกลางคืน  11-12  ชั่วโมง  และนอนกลางวัน  1-2  ครั้ง  ครั้งละประมาณ  2  ชั่งโมง  เด็กคลานเก่งและเริ่มตั้งไข่  ให้อยู่ในห้องเดียวกับคุณพ่อคุณแม่  หรือคนเลี้ยงไปก่อนระวังเรื่องเด็กตกเตียงให้ดี  การเปิดไฟสว่างทำให้เด็กส่วนใหญ่นอนไม่หลับด้วย  หากคุณตื่นกลางดึกหรือตื่นเช้าก่อนเด็ก  ก็อย่าเปิดไฟรบกวนเขาเลย        

อายุ  1-2  ขวบ 
นอนกลางคืน  11-12  ชั่วโมง  และนอนกลางวัน  1  ครั้ง  ครั้งละประมาณ  2  ชั่วโมง  พาเขานอนแต่หัวค่ำส่วนการนอนกลางวันนั้น  เมื่อไรก็ตามที่เขาเริ่มง่วง  ท้องอิ่ม  ตาปรอย  ก็ให้เขาได้อยู่เงียบๆ  อุ้มเดินแล้วโอ๋เขาสักพักเดียว  ก็จะหลับคาอกคุณแม่  อย่าไปพูดคุย  ชวนเล่นเกม  เล่นของขณะที่เด็กเริ่มง่วง  เพราะกว่าที่เขาจะเริ่มรู้สึกง่วงอีกนาน  เนื่องจากวัยนี้เด็กชอบเล่น  ชอบสำรวจสิ่งของต่างๆ  ไปรอบบ้านทั้งวัน  เพราะว่าเขาสามารถเดินได้แล้ว  จึงไม่ค่อยอยู่นิ่ง        

อายุ  2  ขวบขึ้นไป
ลูกโตขึ้นจนวิ่งเล่นได้แล้ว  ควรแยกห้องนอนไปอยู่กับพี่น้องของแก  หากอยู่ห้องเดียวกับคุณพ่อคุณแม่  เด็กจะรู้สึกผูกพันหรือเรียกว่า  “ติดห้องแม่”  ไม่อยากจะแยกห้องนอน  เวลาที่โตขึ้นรู้ความแล้ว  คุณพ่อคุณแม่จะมีกิจกรรมพิเศษให้เด็กเห็นก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง  เวลาในการนอนของทารกกลางคืน  10-12  ชั่งโมง  การนอนกลางวันจะลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น  วัยนี้เด็กกินอาหารได้หลากหลายประเภทแล้ว  การให้อาหารตามใจเด็ก  เช่น  อาหารไขมันสูง  เช่น  ฮอตดอก  ช็อกโกแลต  ขนหวานทำด้วยกะทิ  กุนเชียง  สิ่งเหล่านี้ทำให้รบกวนการนอนหลับ        

ขอขอบคุณข้อมูลจาก BPAfreebabyshop
เรียบเรียงโดย : ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ
URL : www.พัฒนาการเด็ก.com/2016/01/sleep.html

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย